SDG Vocab | 53 – Fundamental Freedoms – เสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เสรีภาพ = ความเป็นอิสระของบุคคลโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เสรีภาพขั้นพื้นฐาน หรือ fundamental freedoms หมายถึง

  • เสรีภาพในการพูดและแสดงออก (freedom of speech and expression)
  • เสรีภาพในการนับถือศาสนา (freedom of worship)
  • เสรีภาพที่ปลอดจากความหวาดกลัว (freedom from fear) – ไปจากอาวุธ ความก้าวร้าว ความรุนแรง หรือการลงมือร้ายกัน
  • เสรีภาพที่ปลอดจากความต้องการ (freedom from want) – เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมจะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชากรทุกวัฒนธรรม

ตามข้อมูลของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) แนวคิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี 4 ประการข้างต้นเริ่มมาจากแนวคิดของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี โรสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐฯ ที่ได้กล่าวถ้อยแถลงประจำปีต่อรัฐสภาในปี ค.ศ. 1941 โดยเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก และเสรีภาพในการนับถือศาสนา รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ให้การรับรองอยู่แล้ว และการกล่าวถึงอีก 2 เสรีภาพขั้นพื้นฐานประการหลังนั้น เป็นการตอบสนองต่อภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

เสรีภาพขั้นพื้นฐาน 4 ประการดำเนินมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) และเป็นหัวใจสำคัญของการก่อตั้งสหประชาชาติ (United Nations) ขึ้นมา โดยงานชิ้นแรก ๆ ในปี ค.ศ. 1945 คือการร่าง ‘ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) ที่คำปรารภก็ได้ระบุถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 4 ประการนี้ด้วย

‘…Whereas disregard and contempt for human rights have resulted in barbarous acts which have outraged the conscience of mankind, and the advent of a world in which human beings shall enjoy freedom of speech and belief and freedom from fear and want has been proclaimed the highest aspiration of the common people…’

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยต่อมาในปี ค.ศ. 1966 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติจึงได้รับกติการะหว่างประเทศอีก 2 ฉบับ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic Social and Cultural Rights – ICESCR) เป็นการสร้างสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อรวมกับปฏิญญาฯ แล้วเป็น ‘ตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ’ (International Bill of Human Rights)

ส่วนในรายละเอียดสำหรับการประเมินการเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเป้าประสงค์ที่ 16.10 นั้น ประกอบไปด้วยตัวชี้วัด 2 ตัวซึ่งประเมินจากจํานวนคดีฆาตกรรม การลักพาตัว การพรากชีวิตตามอำเภอใจ/การบังคับให้สูญหาย (enforced disappearance) การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทรมานผู้สื่อข่าว บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สหภาพแรงงาน และผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการทำอันตรายอื่น ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตลอดจนการมีกฎหมายรองรับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เพราะการส่งเสริมสิทธิของพลเมืองในข้อมูลสาธารณะโดยที่มีรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และ/หรือนโยบายรับรอง จะช่วยให้พลเมืองตระหนักถึงสิทธิของตนและสามารถใช้สิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการกระทำดังเช่นที่ตัวชี้วัดระบุ ถือว่าได้สร้างความหวาดกลัว (fear) ต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่น ๆ การนำมาใช้ประเมินจึงเป็นเครื่องมือวัดผล ‘ความปลอดภัย’ ของผู้ที่เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตน โดยเกี่ยวข้องกับการมีกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องกับข้อตกลงสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการใช้กลไกด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ กลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ (Universal Periodic Review: UPR)

คำว่า เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ปรากฎอยู่ใน ‘#SDG16 – (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ’

Target 16.10: Ensure public access to information and protect fundamental freedoms, in accordance with national legislation and international agreements

● อ่านเพิ่มเติมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 30 ประการ (ภาษาไทย) ที่นี่

● ทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และสิทธิมนุษยชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่นี่

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | บทบาทของสื่อมวลชนต่อ SDGs ในวันที่ข่าวสารข้อเท็จจริงปะปนกับการบิดเบือน และเสรีภาพของสื่อถูกคุกคาม
SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs
เดินไปพร้อมกัน ! เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคืบหน้าก็ต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
FUNDAMENTAL FREEDOMS (OHCHR)
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 16 (2560)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น