COP26 กับการจัดการ Climate Change ที่ตระหนักถึงสิทธิและการเสริมพลังอำนาจให้กับผู้หญิงและเด็กหญิง

ทุกคนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติ ทว่าผู้หญิงและเด็กหญิงมักจะได้รับผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วน/เป็นกลุ่มแรกที่เผชิญกับผลกระทบ โดยเฉพาะหากอาศัยอยู่ในประเทศซีกโลกใต้หรือประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพิเศษ รวมถึงต่อการไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การพลัดถิ่น และความรุนแรงทางเพศ ไปจนถึงการที่เด็กต้องออกโรงเรียนและการถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควร

ประเด็นทาง “เพศ” เป็นอีกหนึ่งหัวข้อเด่นที่เวทีโลกให้ความสำคัญในธีมหลักของการประชุม COP26 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ โดยเรียกร้องให้มีการเสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงในการรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ขณะเดียวกับที่หลายภาคส่วนเร่งให้มีการทำงานในประเด็นความเชื่อมโยงของสภาพภูมิอากาศกับเพศกันมากขึ้น (nexus of climate and gender)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบเป็นภัยซึ่งหน้าที่กำลังเกิดขึ้น โดยที่การระบาดของโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ (ในหลายมิติ) ให้ยิ่งขยายช่องว่างมากขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างพยายามที่จะคิดหาโซลูชันที่เป็นรูปธรรมสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับประชาชนกลุ่มคนชายขอบของสังคมให้สามารถ “รับมือ” กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงที่มีข้อเสนอให้ติดตามปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งต่อผู้หญิงกลุ่มชนพื้นเมืองและผู้หญิงกลุ่มคนผิวสี ด้วยมองว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการ “จัดการ” กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถึงกระนั้น ในการจัดลำดับความสำคัญการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) มักจะมุ่งไปที่การคิดค้นโซลูชันทางเทคโนโลยีมากกว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศ (gender-responsive) ทำให้ในธีมการประชุม COP26 มีการพูดถึงสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิง และเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายตระหนักถึงแนวทางจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คำนึงถึงมิติด้านเพศ การเสริมพลังอำนาจ (empowerment) และการปกป้องสิทธิสตรีด้วย

โดยโซลูชันที่เป็นไปได้ มีทั้งการสนับสนุนการศึกษาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Education) สอดแทรกในหลักสูตรของโรงเรียนวิชาการและวิชาชีพ เฉกเช่นที่ Malala Fund มีกรอบ Gender-Equal Green Learning Agenda ที่เสนอให้จัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศผ่านการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้หญิงและเด็กหญิงมีความรู้และทักษะที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจสีเขียว และเตรียมการพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินและการลงมือทำด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการเสริมพลังอำนาจให้กับผู้หญิงและเด็กหญิง หรือ อีกโซลูชันหนึ่งคือการลงทุนกับการสร้างความเป็นผู้ประกอบการผู้หญิงและองค์กรฐานรากระดับท้องถิ่นนำโดยผู้หญิง โดยมีตัวอย่างเช่นที่ Global Green ได้สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่นำโดยผู้หญิงกว่า 300 โครงการต่อปี และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับ Global Alliance for Green and Gender Action (GAGGA) เพื่อระดมเงินทุนราว ๆ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการลงมือทำด้านสภาพภูมิอากาศที่เน้นมิติทางเพศ ให้ได้ในอีก 5 ปีนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ที่หมายรวมถึงประเด็นทางเพศด้วยนั้น ยังจะต้องจัดการกับความเข้าใจด้านค่านิยมทางเพศ การคุ้มครองการเข้าถึงน้ำสะอาด และการสนับสนุนสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
จดหมายถึงประธานที่ประชุม UN COP26 ร้องให้ปรับงบจัดการกับ climate change ที่ตระหนักถึงเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์
5 ข้อสังเกตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิง-เด็กหญิงเป็นพิเศษ
SDG Updates | หลักสูตรการศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน – เมื่อการต่อสู้กับ Climate Change เริ่มต้นที่ห้องเรียน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
-(5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคล รวมถึงการขจัดการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
-(5.3) ขจัดการปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การบังคับเด็กแต่งงาน และการขลิบอวัยวะเพศหญิง
-(5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
#SDG13 การจัดการ/รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

แหล่งที่มา:
On gender day at U.N. climate talks, a call for action that empowers women and girls (Washington Post)

Last Updated on พฤศจิกายน 11, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น