พลาสติกจากการเกษตรตกค้างในดิน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

FAO ระบุว่า การใช้พลาสติกปริมาณมหาศาลในระบบเกษตรส่งผลให้เกิดมลภาวะจากพลาสติกตกค้างในดิน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพของประชากร และสิ่งแวดล้อม

รายงาน ‘Assessment of agricultural plastics and their sustainability: A call for action’ โดย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบหลักฐานว่าปริมาณไมโครพลาสติกในดินสูงกว่าปริมาณในมหาสมุทร โดยการตกค้างของมลภาวะดังกล่าวเกิดจากปริมาณพลาสติกมหาศาลที่ไม่ได้รับการจัดการถูกต้องในระบบเกษตรกรรมและอาหาร โดยผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมากถึง 12.5 ล้านตันในการทำการเกษตรและปศุสัตว์ทั่วโลก และมากถึง 37.3 ล้านตันเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ในปี 2019 ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากรายงานตระหนักถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ช่วยเพิ่มผลผลิตตลอดกระบวนการในระบบอาหารและการเกษตร อย่างไรก็ตาม การใช้พลาสติกที่เป็นที่แพร่หลายและส่วนใหญ่ถูกใช้เพียงครั้งเดียวและมีการกำจัดอย่างไม่มีประสิทธิภาพทั้งการฝัง เผา หรือหายไปหลังจากการใช้งานนั้นทำให้ปัญหามลภาวะจากไมโครพลาสติกในดินรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการใช้พลาสติกในระบบอาหารและการเกษตรสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของพลาสติกทั้งหมด และความต้องการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทหลัก ๆ เช่น เพื่อใช้ทำเรือนกระจกหรือใช้คลุมดิน และฟิล์มพันหญ้า จะเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2030 ทั่วโลก ดังนั้น รายงานจึงเรียกร้องให้มีการจัดการพลาสติกหลายล้านตันในระบบอาหารและการเกษตรแต่ละปีให้ดีขึ้น และมีวัสดุทางเลือกเพื่อใช้แทนพลาสติก

เนื่องจากมลภาวะจากพลาสติกทางการเกษตรก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ ดังนั้น รายงาน FAO ฉบับนี้จึงเรียกร้องให้มีการจัดการพลาสติกหลายล้านตันในระบบอาหารและการเกษตรแต่ละปีให้ดีขึ้น โดยระบุวิธีการบนพื้นฐานของ 6R model ได้แก่ refuse (ปฏิเสธการใช้) redesign (การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่) reduce (ลด) reuse (ใช้ซ้ำ) recycle (แปรรูปใช้ใหม่) และ recover (ฟื้นฟูประโยชน์) ซึ่งหมายรวมถึง การมีแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยทางเลือกที่เป็นธรรมชาติหรือย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และพัฒนาการจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้น

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 แผนการบริโภคและความเป็นอยู่ที่ดี
- (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
- (15.3) ต่อต้านการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูที่ดินและดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ภัยแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ภายในปี พ.ศ. 2573

ที่มา :
‘Disastrous’ plastic use in farming threatens food safety – UN (The Guardian)
Plastics in soil threaten food security, health, and environment: FAO (UN News)

Last Updated on ธันวาคม 9, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น