รายงาน UN เรียกร้องนานาประเทศกระชับความร่วมมือให้ฟื้นคืนจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างยั่งยืน

ในการเตรียมการเพื่อประชุมระดับสูง (High-level Segment) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Economic and Social Council) หรือ ECOSOC เลขาธิการสหประชาชาติได้เผยรายงานซึ่งระบุถึงแนวคิดของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ‘การประชุม HLPF’ (High-Level Political Forum on Sustainable Development) ในปี 2565 นี้ ว่าจะใช้แนวคิดหลักเรื่อง “การฟื้นคืนสู่สภาพที่ดีขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นดำเนินการให้สอดรับกับการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030” 

โดยรายงานดังกล่าวคือรายงานที่ E/HLS/2022/57 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่การเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการแยกออกจากกันระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (decoupling) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ ต่อประเด็นการฟื้นคืนจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างยั่งยืน รายงานระบุถึงข้อเรียกร้องที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่

  1. พัฒนาระบบสาธารณสุขและระบบคุ้มครองทางสังคม ประเทศต่าง ๆ ควรดำเนินการอย่างรอบด้าน และฟื้นคืนอย่างยั่งยืนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณสุขและระบบคุ้มครองทางสังคม (social protection system) พร้อมกับคำนึงถึงธรรมาภิบาลระหว่างประเทศ (international governance) และเน้นความร่วมมือแบบพหุภาคี (multilateral cooperation)
  2. นโยบายการพัฒนาที่ครอบคลุม ประเทศต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขจัดความยากจนและความหิวโหย แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) ลงมือจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ยุติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) และการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม (environmental degradation) ด้วยยุทธศาสตร์ที่เน้นลงทุนในนโยบายการพัฒนาที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และคำนึงถึงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อเร่งให้บรรลุ SDGs ทั้งผ่านการวางรากฐานที่เข้มแข็งแก่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) และระบบคุ้มครองทางสังคม (social protection system)

รายงานยังเปิดเผยด้วยว่าที่ผ่านมาสหประชาชาติได้พยายามดำเนินการเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ตอบสนองโควิด-19 อย่างน้อยในสามมิติ ได้แก่ มิติแรก การตอบสนองทางสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมรับมือและตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ล่าสุด (COVID-19 Strategic Preparedness and Response Plan (SPRP 2021) มิติต่อมา การตอบสนองด้านมนุษยธรรมที่นำโดยสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs หรือ OCHA) และมิติสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงและฟื้นสภาพอย่างยั่งยืนบนฐานของ SDGs และวาระการพัฒนา 2030 (agenda 2030) ที่นำโดยกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Group) ทั้งนี้รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่ริเริ่มโดยสหประชาชาติ อาทิ โครงการป้องกันและรักษาจากโควิด-19 (Access to COVID-19 Tools Accelerator: ACT-A) การช่วยเหลือด้านการรักษาและวินิจฉัยโรคสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และการดำเนินการจัดหาและจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือจากโควิด-19 ผ่านกองทุน UN COVID-19 Response and Recovery Multi-Partner Trust Fund (UN COVID-19 MPTF) เป็นต้น

นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำว่าความร่วมมือพหุภาคีและการเป็นหุ้นส่วนกันนั้นมีความสำคัญต่อการฟื้นคืนอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ อย่างยิ่ง อาทิ 1) การทำให้มั่นใจว่าการกระจายและการเข้าถึงวัคซีน การรักษา การวินิจฉัย นั้นเป็นไปอย่างทันท่วงทีและเป็นธรรม 2) การจัดหาทรัพยากรสำหรับการฟื้นคืนสภาพอย่างเพียงพอเพื่อปรับปรุงระบบคุ้มครองทางสังคม พลังงานและระบบอาหาร ความสัมพันธ์ระดับมหภาคระหว่างเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม 3) การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่สะอาด (clean energy infrastructure) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grids) ยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles) และ การดักจับคาร์บอน (carbon capture) เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า เนื้อหาของรายงานข้างต้นซึ่งเพ่งความสนใจไปที่การร่วมมือเพื่อฟื้นคืนอย่างยั่งยืนจากผลกระทบของโควิด-19 นั้นมีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากเปรียบเสมือนลายแทงที่จะช่วยชี้ทางและเรียกร้องนานาประเทศให้ลุกขึ้นเพื่อก้าวข้ามโรคระบาดไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน ดังจะเห็นว่าแนวทางหรือโครงการต่าง ๆ ล้วนเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาทิ โครงการ ACT-A ซึ่งจะช่วยให้ประทศต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเครื่องมือเพื่อรับมือกับโควิด-19 ได้ หรือแนวทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่แยกอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกจากกันก็นับว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เอเชียแปซิฟิกจะฟื้นคืนจากโรคระบาด เมื่อมีนโยบายที่ประสาน ‘สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม’
รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับล่าสุดเผย โควิด-19 ทำความก้าวหน้าการบรรลุ SDGs ‘ถดถอย’ และเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่ทางการคลังในประเทศกำลังพัฒนา
SDG Insights | Transformative Partnership และทุนทางสังคม กับอนาคตของสังคมไทยในโลกยุค (หลัง) โควิด-19
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
‘กองทุนระดับโลกเพื่อการคุ้มครองทางสังคม’ ช่วยเหลือการเงินให้ประเทศยากจนมีระบบคุ้มครอง-ประกันสังคมที่ใช้การได้ระยะยาว

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
– (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึง การยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและวิธีการที่เป็นไปได้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าเเละการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เเหล่งที่มา:
UN report urges better cooperation to achieve sustainable recovery, SDGs (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 23, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น