SDG Insights | Transformative Partnership และทุนทางสังคม กับอนาคตของสังคมไทยในโลกยุค (หลัง) โควิด-19

ในวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และรุนแรงขึ้นมาในระลอกแรกในช่วงมีนาคม 2563 ก่อนจะผ่อนแรงลงไปและย้อนกลับมารุนแรงกว่าเดิมในระลอกปัจจุบันและยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงเลยนั้น อาจทำให้รัฐบาลและผู้คนในประเทศไทยยังคงกังวลและถกเถียงกันไม่จบสิ้นกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเชิงการยับยั้งการระบาดและการจัดหาและกระจายวัคซีน

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่การมองไปข้างหน้าและทบทวนแผนการพัฒนาของประเทศเพื่อตอบโจทย์อนาคตที่เปลี่ยนทิศไปอย่างชัดเจนอันเนื่องมาจากโควิด-19 นั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น การมองอนาคตนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรและเรายังขาดอะไรในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

บทความนี้สำรวจความเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจสังคมในโลกยุค (หลัง) โควิด-19 ที่มีการเผยแพร่ โดยเน้นไปที่บทความและรายงานของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก เช่น McKinsey and Company (2020), pwc (2020) รายงาน Global Risk Report 2021 จัดทำโดย World Economic Forum เป็นต้น จากนั้นจึงชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนในบริบทแบบโลกยุค (หลัง) โควิด-19 คือ ‘Transformative Partnership’ หรือความร่วมมือกันระหว่างผู้คนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการต่อกรกับปัญหาความยั่งยืนที่ซับซ้อน และสิ่งที่จำเป็นต่อความร่วมมือนั้นคือ ‘ทุนทางสังคม’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะร่อยหรอลงไปทุกวัน


1. ภาพรวมผลกระทบของโควิด-19

การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง ตั้งแต่ปี 2563 และตามมาอีกหลายระลอกจนถึงขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและภาคส่วนในสังคมนั้นไม่เท่ากัน แต่โดยภาพรวมแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 มักจะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว เมื่อเผชิญวิกฤติจากการระบาดและมาตรการที่ตามมายิ่งทำให้คนเหล่านี้เปราะบางยิ่งขึ้นไปอีก

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมตกอยู่กับกลุ่มผู้เล่นและประเด็นต่อไปนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานขององค์กรระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ ((Cheng et al. 2020), United Nations 2020)

  • ประการแรก โควิด-19 และมาตรการที่เกี่ยวข้องสร้างผลกระทบให้กับกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากที่สุด กลุ่มเปราะบางดังกล่าวอาจมีความแตกต่างกันไปในบริบทแต่ละประเทศแต่โดยภาพรวมนั้นกลุ่มที่เปราะบางต่อโควิด-19 คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและพึ่งพาการทำงานที่ใช้แรงงานหรืออยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการและ/หรือไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ คนกลุ่มนี้ก็คือ ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานในภาคบริการและการท่องเที่ยว และหากจำแนกแยกย่อยลงไปอีกเราจะพบว่า ผู้คนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีรายได้น้อย จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานต่างชาติและในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา มักเป็นกลุ่มคนผิวสี นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าเพราะผู้หญิงทำงานในภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
  • ประการที่สอง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นอย่างมาก มาตรการปิดเมือง (Lock Down) และมาตรการควบคุมการขนส่งและเดินทางข้ามพื้นที่ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริโภคและปริมาณลูกค้า การปรับตัวไปสู่ธุรกิจออนไลน์หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าบริการย่อมมีต้นทุนที่พ่วงมาด้วยและส่งผลต่อพนักงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ พวกเขาอาจพอมีทุนสะสมเพื่อปรับตัวและรับมือกับการระบาดและมาตรการโควิด-19 หนึ่งระลอก แต่ในสภาวะที่ระลอกของการระบาดและมาตรการโควิด-19 มิได้หยุดแค่ระลอกเดียว แต่ซัดเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ทุนสะสมไม่มากพออาจไม่สามารถทัดทานระลอกของการระบาดและมาตรการเหล่านี้ได้อีกต่อไป
  • ประการที่สาม การลงทุนในนวัตกรรมตกอยู่ในความเสี่ยง ในภาวะวิกฤติเหล่านี้ การลงทุนในนวัตกรรมของภาคเอกชนย่อมถูกชะลอไว้ก่อนแน่นอนเพื่อนำทรัพยากรไปใช้ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การลงทุนในนวัตกรรมของภาคเอกชนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงแน่นอน นอกจากนี้การลงทุนในนวัตกรรมของภาครัฐอาจตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกันสำหรับรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เพราะต้องจัดสรรงบประมาณไปเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี รัฐบาลของประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอาจทำตรงข้ามโดยเสริมการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อทดแทนการลงทุนด้านนี้ของภาคเอกชน
  • ประการที่สี่ ประเทศหรือภูมิภาคที่ภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางกระจุกตัวอยู่จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่สำคัญ ที่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ย่อมได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่รุนแรงกว่าประเทศอื่น หรือจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างจังหวัดภูเก็ตย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าจังหวัดอื่นที่มีภาคเศรษฐกิจที่หลากหลายกว่า
  • ประการที่ห้า ความรุนแรงและความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Divide) ยิ่งถูกทำให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ในมิติเศรษฐกิจ บริษัทในเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น media streaming หรือ digital platform เป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทห้างร้านที่ปรับตัวให้สามารถขยับสินค้าบริการของตนขึ้นไปบน digital platform ย่อมปรับตัวได้ดีกว่า ในด้านสังคมผู้คนที่มีโทรศัพท์มือถือและใช้อินเตอร์เน็ตเป็นมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะได้ดีกว่าคนที่ไม่มี นักเรียนนักศึกษาที่มีฐานะย่อมเข้าถึงเครื่องมือและบริการอินเตอร์เน็ตที่ทำให้เรียนออนไลน์ได้ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจะประสบความยากลำบากกว่ามาก
  • ประการที่หก บทบาทของเมืองขนาดใหญ่จะถูกตั้งคำถามมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ เพราะเมืองขนาดใหญ่ซึ่งผู้คนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากกลายเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ต้องมีการทบทวนทิศทางของการพัฒนาเมืองเช่นกัน
  • ประการที่เจ็ด แม้ว่าสภาพแวดล้อมในด้านสถานการณ์มลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีรายงานว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ด้านขยะพลาสติกและขยะติดเชื้อกลับแย่ลง เนื่องจากมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากและการขาดความเข้าใจและขาดระบบการจัดการที่เหมาะสม

การขาดระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection Mechanism) จะทำให้สถานการณ์ของกลุ่มเปราะบาง กลุ่ม SMEs และผลกระทบจาก Digital Divide มีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกและสร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับกลุ่มเหล่านี้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทุกด้านในสังคมมีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ว่าวัคซีนจะถูกกระจายและฉีดในทุกประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงเจริญเติบโต ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่เคยเน้นการส่งออกสินค้าทุนในช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19 เศรษฐกิจจะไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับยุคก่อนโควิด-19 ได้ (Kupelian and Clarry 2021) และไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศที่การฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศอื่นย่อมมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าเช่นกัน


2. ทิศทางของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกยุค (หลัง) โควิด-19

การเกิดขึ้นและแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดอื่น ๆ สะท้อนความไม่สมดุลของการพัฒนาที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจน ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติถูกสะท้อนผ่านการที่โรคระบาดหลายโรคกระโดดข้ามจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์ จากการขยายตัวของเมืองและการลดลงของพื้นที่ป่าทำให้มนุษย์ได้ปฏิสัมพันธ์กับเชื้อโรคและไวรัสที่เราไม่เคยประสบมาก่อน นอกจากนี้ ผลการสำรวจ Global Risk Perception Survey 2021 (Word Economic Forum 2021) ยังสะท้อนให้เห็นถึงว่าความกังวลถึงความเสี่ยงที่ผลกระทบสูงและมีโอกาสเกิดขึ้นสูงนั้น เปลี่ยนผ่านจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสันติภาพ มาเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับปัญหาโรคระบาดและผลกระทบที่ตามมา

โควิด-19 ยังเปิดเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงระบบการคุ้มครองที่สังคม และการเข้าถึงเทคโนโลยี มันยังเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสาธารณสุขในหลายประเทศ และความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจที่ผูกอนาคตไว้กับบางภาคเศรษฐกิจโดยขาดภูมิคุ้มกันหรือกลไกการรองรับความเสี่ยงอีกด้วย

โควิด-19 สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนของการบรรลุและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากรายงานหลายฉบับ ทิศทางของเศรษฐกิจสำหรับโลกยุค (หลัง) โควิด-19 จะต้องเป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเพื่อทำให้ภาคเศรษฐกิจเหล่านั้นใช้ทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและปรับตัวกับโลกที่ผันผวนได้รวดเร็วขึ้น (Iberdrola n.d.; Cheng et al. 2020) ทิศทางเหล่านี้ยังสะท้อนอยู่ในนโยบายของประเทศและกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกด้วย เช่น สหรัฐอเมริกาที่กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสและมีนโยบายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน สหภาพยุโรปที่มีนโยบายมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่บนฐานดิจิทัลมากขึ้น หรือกระทั่งจีน ที่มีนโยบายและแผนที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานสีเขียว เป็นต้น

ทิศทางเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัลช่วยชี้ให้เห็นว่าภาคเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตอาจครอบคลุมภาคเศรษฐกิจต่อไปนี้ (Iberdrola n.d.)

  • Green Energy: พลังงานสีเขียว / พลังงานทดแทน รวมไปถึงระบบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบ Smart Grid และเทคโนโลยีแบตเตอรี่
  • Digital Services: บริการรูปแบบต่าง ๆ บนแพลทฟอร์มดิจิทัล บริการสำหรับการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล และบริการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์
  • Sustainable Food: ระบบอาหารที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (เช่น Internet of Things หรือ Blockchain) ในการควบคุมให้การใช้ทรัพยากรในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพ ระบบเกษตรอินทรีย์ ของเสียจากระบบอาหารลดลง และสืบย้อนกลับไปยังต้นทางเพื่อการควบคุมคุณภาพได้
  • Sustainable Mobility: ยานพาหนะและระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชนที่ควบคุมและให้บริการโดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาประกอบ และเทคโนโลยีการลดมลภาวะจากระบบขนส่งและยานพาหนะ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการออกแบบและสร้างอาคารที่ยั่งยืนด้วย
  • Sustainable Urban Development: สินค้าและบริการที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจมาในหลายรูปแบบและหลายแนวคิด แต่โดยรวมก็คือ สินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการให้บริการสาธารณะ การลดความเสี่ยงและการรับมือกับภัยพิบัติ และการลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อม

การจะมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เขียวกว่า ดิจิทัลกว่า ยั่งยืนกว่า จำเป็นต้องอาศัยการกระตุ้นและอำนวยความสะดวกจากนโยบายภาครัฐอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลจำเป็นต้องมีการดำเนินการต่อไปนี้ (Cheng et al. 2020)

  • ลงทุนในการการเติบโตที่ครอบคลุม (Inclusive Growth) เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของคนทุกกลุ่มให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งหมายรวมถึงการปรับกฎกติกาและโครงสร้างต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการที่คนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาและโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงหาวิธีจัดสรรและให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องจากการถูกแย่งเอาไปโดยรัฐและเอกชนด้วย
  • ปรับพื้นฐานแรงงานให้มีทักษะในการเรียนรู้และทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้พร้อมกับเศรษฐกิจในยุค (หลัง) โควิด-19 ซึ่งการปรับพื้นฐานแรงงานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งการสนับสนุนและการปรับกฎกติกาให้เหมาะสมจากภาครัฐ ความร่วมมือหรือการปฏิบัติตามกติกาของนายจ้าง ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในการจัดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการผ่อนคลายเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมของแรงงานให้สามารถใช้เวลากับการเรียนรู้ทักษะและความรู้ใหม่ ๆ ได้ด้วย
  • ดำเนินนโยบายกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการปรับตัวและเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลร่วมกับภาคีในด้านระบบความรู้และการวิจัยต้องเข้าไปมีบทบาทในการส่งผ่านความรู้ไปยังภาคเอกชน รวมถึงมีกลไกในการช่วยแบกรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อจูงใจให้เกิดการรับเทคโนโลยีใหม่
  • ลงทุนในระบบสนับสนุนนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวมิได้หมายถึงเพียงนวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ควรหมายรวมถึงนวัตกรรมทางสังคม และนวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย นั่นหมายถึงว่าระบบสนับสนุนนวัตกรรมจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงระบบความรู้ทางการ เช่น มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ควรอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือระหว่างระบบความรู้ทางการกับระบบความรู้ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เข้าใจบริบทและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ท้องถิ่น
  • ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อหาวิธีการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ในส่วนนี้ รัฐบาลต้องทำให้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบเดียวกับไฟฟ้า ทำให้ Digital Literacy เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกที่ รวมถึงมีระบบในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย นอกจากนี้โครงสร้างกฎกติกาด้านดิจิทัลจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีความเชื่อถือได้ และให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันก็สร้างสมดุลให้กับการเปิดเผยและเข้าถึงข้อมูลภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล

3. Transformative Partnership คือกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนแห่งอนาคตในยุค (หลัง) โควิด-19

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายข้างต้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนา จากแนวนโยบายข้างต้นจะเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ และในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องร่วมมือกับภาคประชาสังคม หรือองค์กรระหว่างประเทศด้วยในบางโอกาส นั่นหมายถึงรัฐบาลต้องเปิดกว้างและสร้างให้เกิดภาคีการพัฒนาขึ้น

ภาคีการพัฒนาที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนา 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ แนวคิด ‘Transformative Partnership’ ซึ่งหมายถึงหุ้นส่วนการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับทุกภาคีอย่างเท่าเทียมกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้ถึงจุดแข็งและทุนที่แต่ละภาคีมีอยู่เพื่อการแก้ไขปัญหา ภาคีดังกล่าวมิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหาด้วยที่จะต้องถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วม (“Transformative Partnership – Stakeholder Health” 2013)  หุ้นส่วนการพัฒนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานจะต้องมุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบ (address systematic problems) นำไปสู่การเปลี่ยนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง (Change the status quo) และสามารถทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงอยู่ในระยะยาวได้ (Sustain Impact) (Li and Gray 2019)

ภาคีการพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะการประสานงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือมีต้นทุนทั้งสิ้น และการริเริ่มภาคีลักษณะนี้ รัฐต้องตระหนักว่า ไม่ใช่ว่าหน่วยงานใดจะทำก็ได้ เพราะการริเริ่มภาคีความร่วมมือใด ๆ นั้น ผู้ที่ริเริ่มต้องมีความชอบธรรมในการริเริ่มด้วยจึงจะได้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ดังนั้น การขับเคลื่อนภาคีการพัฒนาจึงต้องอาศัยการวางแผนอย่างเป็นระบบใน 4 ด้านหลัก (Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General 2019; Cheng et al. 2020) คือ

          1. ด้านระบบบริหารจัดการ (Governance)

  • การทำงานภายในภาครัฐเองต้องบูรณาการมากขึ้น มีการทำงานแบบข้ามกรมและกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยั่งยืน
  • จัดระบบให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกัน
  • การบริหารจัดการและขับเคลื่อนการพัฒนายังต้องมีความรับผิดรับชอบ (Accountable) ยั่งยืน (Sustainable) และปราดเปรียวปรับตัวไว (Agile) อีกด้วย

          2. ด้านการเงินและระบบเศรษฐกิจ (Economy and Finance)

  • แหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาจะต้องมีความหลากหลายมากกว่าเพียงแหล่งเงินทุนของภาครัฐเท่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนธรรมดาและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม
  • เงื่อนไขแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจจะต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนนี้ด้วย

          3. ด้านความร่วมมือของปัจเจกชนและชุมชนในการพัฒนา (Individual and Collective Actions)

  • ต้องมีการเปิดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากพลเมืองทุกกลุ่มในการขับเคลื่อนสังคม
  • ปรับเงื่อนไขการมีส่วนร่วมให้ทุกฝ่ายมีสิทธิมีเสียงที่เท่ากันในการร่วมคิดร่วมแก้ปัญหา
  • มีระบบสนับสนุนที่เหมาะสมให้คนและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ มีร่วมคิดร่วมทำกันอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดให้มีระบบอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

          4. ด้านการใช้ความรู้เพื่อการแก้ไขปัญหาความยั่งยืน (Science Technology and Innovation)

  • ในการร่วมกันแก้ปัญหาความยั่งยืนนั้นจะต้องอาศัยการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ และหาวิธีการแก้ไขอย่างเหมาะสมกับบริบท อยู่บนฐานของความรู้ และมีการวางเป้าหมายร่วมกัน กำหนดตัวชี้วัด พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

4. ทุนทางสังคม (Social Capital): ฐานของ Transformative Partnership ที่ถูกกัดกร่อน

เนื้อหาในหัวข้อข้างต้นแม้จะเป็นการสำรวจมาจากเอกสารและรายงานจากต่างประเทศแต่ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงกับประเทศไทยได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการที่เกี่ยวข้องนั้นคล้ายคลึงกันในหลายประเทศ และทิศทางของการพัฒนาของประเทศไทยนั้นก็ดูเหมือนถูกปรับให้มุ่งไปในทิศทางของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยรัฐบาลไทยเน้นหนักไปที่แนวคิด BCG (Bioeconomy Circular Economy and Green Economy) (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) n.d.) และทิศทางของ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2021) นำเสนอนั้นก็ดูจะมุ่งไปทางนั้นเช่นกัน

คำถามที่ตามมาก็คือ ประเทศไทยจะสามารถมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนได้หรือไม่ ? การประเมินความพร้อมของประเทศไทยไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความฉบับนี้ แต่ผู้เขียนอยากจะให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่า การมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะว่ารากฐานของสิ่งที่เรียกว่า ‘Transformative Partnership’ กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนักในปัจจุบัน

สิ่งที่เป็นรากฐานของ Transformative Partnership คือ ‘ทุนทางสังคม’ (Social Capital) (Putnam 2000) ทุนทางสังคมครอบคลุมลักษณะทางความสัมพันธ์ทางสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ และทำให้ความร่วมมือในสังคมเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction Costs) ที่ต่ำ ต้นทุนทางธุรกรรมครอบคลุมต้นทุนทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกชนและหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทุนในการหาข้อมูล (Information Cost) ต้นทุนในการทำสัญญา (Contract Cost) ต้นทุนในการตรวจตรา (Monitoring Cost) ต้นทุนในการบังคับสัญญา (Enforcement Cost)

ทุนทางสังคมอาจมีหลายมิติ ครอบคลุมทั้ง ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างตอบแทน (Reciprocity) การมีเครือข่ายทางสังคม (Networks) และการมีบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ส่งเสริมความร่วมมือ สังคมที่มีทุนทางสังคมจะช่วยลดทั้งต้นทุนในการหาข้อมูล เพราะหาได้ผ่านเครือข่ายและความเชื่อใจกันทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการตรวจสอบซ้ำสอง เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจและบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่งเสริมความร่วมมือทำให้ไม่ต้องเสียเวลาและต้นทุนในการติดตาม ตรวจตรา และบังคับสัญญา เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางสังคมการเมือง รวมไปถึงความเชื่อและค่านิยมในสังคมไทย ได้กัดกร่อนทุนทางสังคมลงไปเป็นอันมาก และที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ ความถดถอยของทุนทางสังคมนั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น สถานการณ์ที่กัดกร่อนทุนทางสังคมมีอย่างน้อย 4 ประเด็นต่อไปนี้ (Sengupta 2021)

  • การย้อนกลับไปสู่การเป็นสังคมชนเผ่า (Tribalism): แบ่งพรรคแบ่งพวก และใช้หลักกู ไม่ใช่หลักเกณฑ์หรือหลักการในการคิดตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถคุยกันด้วยเหตุด้วยผลหรือหาจุดร่มกันได้เพราะมองอีกฝ่ายเป็นคนละเผ่า เป็นศัตรูกันตลอดเวลา
  • อุดมการณ์ทางการเมืองถูกนำมาเป็นอาวุธ: การตีตราว่าความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองใดเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ก็ทำให้โอกาสในการสร้างความร่วมมือและความสมานฉันท์เสียไปแล้ว แทนที่จะฟังกันด้วยเหตุผลคนก็เปลี่ยนเป็นจับผิดและโจมตีกัน ป้ายสีกันในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เกิดความขัดแย้งในทุกระดับ
  • การสนทนากลายเป็นการโจมตีกันด้วยคำพูดและ Hate Speech: ทั้งสองข้อข้างต้นเป็นปัจจัยส่งผลให้การสนทนาและปรึกษาหารือกันด้วยเหตุผลเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อการหารือกันด้วยเหตุผลเกิดขึ้นไม่ได้ย่อมไม่สามารถหาข้อสรุปที่สมเหตุสมผลและยอมรับร่วมกันได้ ยากที่จะเกิดความร่วมมือกันได้
  • ความชาตินิยมและเห็นแก่ประโยชน์ของชาติ: ความชาตินิยมก็เป็นปัญหาในระดับนานาชาติ วิกฤติระดับโลกไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโควิด-19 ต่างก็ไม่รู้จักคำว่าพรมแดนหรือความชาตินิยมและเห็นแก่ประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ของ ‘มนุษยชาติ’ ความชาตินิยมและเห็นแก่ประโยชน์ของชาติเป็นเหตุสำคัญที่ขัดขวางความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขวิกฤติที่สำคัญของโลก

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราจะพบว่า ทั้ง 4 ประการคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และถ้าทุกท่านลองประเมินด้วยใจเป็นกลางจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรวมถึงปฏิกิริยาของสังคมต่อรัฐบาลและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายด้านวัคซีนนั้น ท่านคงรู้สึกได้ถึงความรู้สึกที่สังคมเสียความไว้วางใจจากรัฐบาลไปเสียแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ความแตกต่างระหว่างโอกาสในการเลือกวัคซีน ในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ บริการสาธารณะ และประโยชน์จากนโยบายรัฐ ระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชนชั้นยิ่งลดน้อยถอยลงไปอย่างยิ่ง

หากทุนทางสังคมระหว่างรัฐบาลและประชาชน และระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำขนาดนี้ สังคมไทยคงไม่อาจก้าวข้ามเสื้อสีหรือปัญหาเรื่องรักชาติ-ชังชาติ ไปสู่การปรึกษาหารือถึงวิกฤติของมนุษยชาติที่กำลังคืบคลานเข้ามาช้าอย่างการจัดการกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาความยั่งยืนอื่น ๆ ได้เลย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต่างหากที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของเราและลูกหลานของเรา


5. ฟื้นคืนทุนทางสังคมเพื่อการมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน ?

การฟื้นคืนทุนทางสังคม ไม่ได้แก้ด้วยคณะกรรมการปรองดอง หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่ได้แก้ไขด้วยการแต่งเพลงปลุกใจ หรือปรับทัศนคติให้คนรักชาติ ไม่ได้แก้ไขด้วยการไล่ปิดข่าวความผิดพลาดของรัฐบาล หรือปิดปากสื่อหรือคนที่เห็นต่างด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย ทั้งหมดที่รัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลทำ คือ การทำลายทุนทางสังคมลงไปอีกอย่างน่าเสียดาย

การฟื้นฟูทุนทางสังคมเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนนั้น อาศัย 4 สิ่งเป็นอย่างน้อย
1) ความจริง (Truth)
2) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)
3) มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน (Humanity and Human Rights)
4) คำมั่นและการปฏิบัติตามคำมั่นในการพิสูจน์ตนเอง (Commitment)

สังคมต้องการความจริง (Truth) จากรัฐบาล แม้ว่ามันจะเป็นความจริงที่ทำให้ทุกคนเห็นถึงสถานการณ์ที่ไม่ดีหรือเลวร้ายลงก็ตาม หากปราศจากความจริงแล้ว เราไม่สามารถเข้าใจปัญหา คิดแก้ไขปัญหา หรือหาทางรับมือหรือปรับตัวได้เลย และเมื่อประชาชนรู้เมื่อใดว่ารัฐบาลไม่พูดความจริง การเรียกคืนความเชื่อใจนั้นจะเป็นไปได้ยากมาก แต่ถึงกระนั้นหากรัฐบาลต้องการฟื้นคืนทุนทางสังคม รัฐบาลก็ต้องสื่อสารความจริงกับสังคม

นอกจากนี้รัฐบาลต้องเลิกไล่ฟ้องคนเห็นต่าง หรือคนที่นำเสนอข้อมูลที่ต่างไปจากที่ภาครัฐนำเสนอ แต่ต้องใช้กระบวนการสานเสวนา (Dialogue) หรืออย่างน้อยก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลชุดอื่นที่เป็นความจริง หรือหากสิ่งที่คนนำเสนอข้อมูลที่ต่างไปนำเสนอข้อมูลจริง รัฐบาลก็ควรจะยอมรับและตอบสนองต่อข้อมูลเหล่านั้นและสังคมตามวิสัยที่วิญญูชนพึงกระทำ ก็คือ ข้อมูล/ความเห็นต่างใดที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา ก็ “ขอบคุณ” ข้อมูล/ความเห็นใดที่เปิดโปงให้เห็นการดำเนินการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ก็ “ขอโทษ” และแสดงความรับผิดชอบแบบที่นักการเมืองและผู้นำในอารยะประเทศพึงกระทำกัน

นอกจากสื่อสารความจริงแล้ว รัฐบาลต้องสื่อสารและออกนโยบายที่สะท้อนความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ให้สังคมได้รับรู้ด้วย (Sengupta 2021) การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสังคมในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้นำประเทศที่ขณะนี้ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาโควิด-19 ต่างสื่อสารและออกนโยบายที่สะท้อนความเห็นอกเห็นใจประชาชนทั้งสิ้น รัฐบาลจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเขามีความเข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จริง ๆ และรู้สึกถึงความทุกข์ยากเหล่านั้นจริง ๆ แต่ถึงกระนั้น มิใช่ว่าเรากำลังแนะนำให้รัฐบาลทำตามความรู้สึก แต่รัฐบาลจะต้องช่วยออกนโยบายที่มีความสมดุลระหว่างข้อมูลความรู้ทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริงในสังคมและความเห็นอกเห็นใจผู้คนด้วย เช่น การจะออกมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้านสุขภาพที่จะกระทบคนกลุ่มใดก็ต้องคิดถึงหัวอกเขาด้วย ว่าเขาจะต้องเผชิญอะไรบ้าง เขาจะปรับตัวทันหรือไม่ เขาจะรอดช่วงเวลาแบบนี้ไปได้อย่างไร เป็นต้น

รัฐบาลต้องยึดหลักมนุษยธรรม (Humanity) และหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เหนือสิ่งอื่นใด หากการดำเนินการใด ๆ ของรัฐอยู่บนหลักการสองหลักการนี้ ย่อมเป็นที่ยอมรับของวิญญูชนทั่วไปและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ การออกนโยบายและดำเนินการตามหลักการเหล่านี้จะสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนว่า อย่างน้อยที่สุดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเขาจะได้รับการเคารพ การดำเนินการของรัฐจะอยู่บนหลักมนุษยธรรม ที่เห็นคนทุกคนเป็น “คน” เหมือน ๆ กัน ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ย่อมส่งเสริมการดำเนินนโยบายและการสื่อสารที่มีความเห็นอกเห็นใจ ในทางตรงข้าม รัฐบาลที่มีการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงจะไม่มีใครเชื่อถือและให้ความร่วมมือ

ประการสุดท้ายคือ การให้คำมั่นและการปฏิบัติตามคำมั่น (Commitment) ในการดำเนินการที่โปร่งใสและเป็นธรรม (Sengupta 2021) ซึ่งไม่ใช่แค่การประกาศอะไรบางอย่างเป็นวาระแห่งชาติ แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการ การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และมีผลการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อยืนยันคำมั่นนั้น เช่น มีการติดตั้งเทคโนโลยี Blockchain ที่ช่วยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงเอกสารที่เป็นเหตุแห่งการทุจริตในภาครัฐให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ มีการปรับกฎกติกาที่ถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอิสระ มีการดำเนินคดีและลงโทษอย่างรวดเร็วกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม เป็นต้น ตัวอย่างข้างต้นจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในสังคมมากขึ้น มิใช่การให้ภาครัฐมายืนปฏิญาณว่าจะต่อต้านการทุจริตที่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นแค่การพร่ำบ่นมนตราที่ไม่มีความหมายอะไร

รัฐบาลมีบทบาทที่ความสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูทุนทางสังคมในสังคม เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนในสังคมทราบว่าประเทศนี้กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางใด บริหารด้วยหลักเกณฑ์หรือหลักกู ความยุติธรรมเสมอหน้ากันหรือยุติธรรมเฉพาะพวกพ้อง เป็นรัฐบาลที่มีสัจจะหรือโกหก ยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนหรือทำอะไรก็ได้แม้สิ่งที่ไร้มนุษยธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง และสิ่งที่จะพิสูจน์เรื่องเหล่านี้หาใช่การประกาศหรือท่องคำปฏิญาณ แต่ต้องอาศัยการกระทำเป็นเครื่องยืนยันคำมั่น


6. ทิ้งท้าย

โควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและทำลายเงื่อนไขและแนวทางที่เราคุ้นเคยในอดีต ซ้ำยังเป็นภาพสะท้อนของการพัฒนาที่ขาดสมดุล ทิศทางของการพัฒนาต่อจากนี้จำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมกับสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ แต่การมุ่งไปสู่เส้นทางของความยั่งยืนนี้ไม่สามารถอาศัยเพียงความพยายามของภาครัฐได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในแบบ Transformative Partnership

ทิศทางข้างต้นเป็นทิศทางที่ทุกประเทศเผชิญรวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ยั่งยืนได้เลยหากเราไม่สามารถฟื้นคืนทุนทางสังคมที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งทางการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมาและการดำเนินการของรัฐบาลในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการจะฟื้นฟูทุนทางสังคมนั้นต้องอาศัย “ความจริง” “ความเห็นอกเห็นใจกัน” “มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน” และ “คำมั่นและการปฏิบัติตามคำมั่น” ความล้มเหลวของรัฐบาลในการฟื้นฟูทุนทางสังคมจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เลย

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร


เอกสารอ้างอิง

Cheng, Wan-Lae, André Dua, Jonathan Law, Mike Kerlin, Jörg Schubert, Chun Ying Wang, Qi Xu, and Ammanuel Zegeye. 2020. “Reimagining the Postpandemic Economic Future.” McKinsey and Company. McKinsey & Company. August 14, 2020. https://www.mckinsey.com/industries/public-and-social-sector/our-insights/reimagining-the-postpandemic-economic-future.

Iberdrola. n.d. “Which Sectors Will Lead the Economy with Digitalisation and Sustainability?” Iberdrola. Accessed May 29, 2021. https://www.iberdrola.com/innovation/future-economy.

Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General. 2019. “Global Sustainable Development Report 2019: The Future Is Now – Science for Achieving Sustainable Development.” United Nations, New York. https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/24797GSDR_report_2019.pdf.

Kupelian, Barret, and Rob Clarry. 2021. “Global Economy Watch: Predictions for 2021.” PwC. January 2021. https://www.pwc.com/gx/en/research-insights/economy/global-economy-watch/predictions-2021.html.

Li, Serena, and Erin Gray. 2019. “What Makes a Partnership Transformational?” https://www.wri.org/insights/what-makes-partnership-transformational.

Putnam, Robert D. 2000. “Bowling Alone: America’s Declining Social Capital.” In Culture and Politics, 223–34. New York: Palgrave Macmillan US.

Sengupta, Hindol. 2021. “The Future of the Economy Depends on Compassion.” Fortune India. May 18, 2021. https://www.fortuneindia.com/polemicist/why-the-future-of-the-economy-depends-on-compassion/105485.

“Transformative Partnership – Stakeholder Health.” 2013. Stakeholder Health. August 28, 2013. https://stakeholderhealth.org/transformative-partnership/.

United Nations. 2020. “Sustainable Development Goals Report 2020.” United Nations Sustainable Development. 2020. https://www.un.org/sustainabledevelopment/progress-report/.

Word Economic Forum. 2021. “The Global Risks Report 2021.” World Economic Forum. 2021. https://www.weforum.org/reports/the-global-risks-report-2021.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). n.d. “โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG.” Nstda. Accessed September 16, 2020. https://www.nstda.or.th/th/news/12887.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2021. “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13.” 2021. https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=plan13.

Last Updated on มิถุนายน 4, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น