SDG Insights | ชำแหละนโยบายแก้ฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตร : อะไรคือต้นเหตุของความไม่ยั่งยืน

รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช*
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลโดยตรงและทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย “การลดการตายและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน” เป็น 1 ใน 9 เป้าหมายที่ตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งระบุไว้ว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะวิกฤตส่งผลต่อการบรรลุ SDG3  สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 และ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายย่อยที่ 11.6 และสอดคล้องกับประเด็นที่ผู้ตอบแบบสำรวจการรับรู้ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของไทย “Thailand’s  Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ” มองว่าไม่ยั่งยืนที่สุดเป็นอันดับ 4 จาก 51 ประเด็น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังคงมีความกังวลต่อปัญหาเรื่องฝุ่นควันอยู่ในสังคมอย่างมาก  

ในโอกาสที่ปีนี้ย่างเข้าสู่ครึ่งทางของวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ที่จะครบกำหนด 15 ปี ในปี 2030 (พ.ศ.2573) และประเทศไทยกำลังเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีแนวนโยบายขับเคลื่อนในเรื่องนี้  SDG Insight ฉบับนี้ จึงอยากชวนชี้ให้เห็นถึงต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยโจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้ คือ ประเด็นเรื่องการเผาของพืช 3 ชนิดสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด ซึ่งปัญหาการเผาในภาคการเกษตรเป็นปัญหาที่โยงใยถึงนโยบายเเละมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ เพื่อความครอบคลุมในการจัดการ PM 2.5 ในทุกมิติ 


01 –  สถานการณ์ของมลพิษทางอากาศของประเทศไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำเกิดการเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน/ปี และก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น ฝุ่นพิษ PM2.5 รวมถึงเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดในสมองอุดตัน สมองเสื่อม ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ หอบหืด ภูมิแพ้ ฯลฯ ด้วยอันตรายต่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยต่อสุขภาพด้วยการปรับค่าแนะนำให้เข้มงวดขึ้น [1][2]

เพื่อตระหนักถึงอันตรายของมลพิษทางอากาศ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มีหลายเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่ 2 ยุติความหิวโหย มีเป้าหมายย่อย SDG2.4 (ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573) SDG ที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีเป้าหมายย่อย 3.9 (ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573) และ SDG ที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน มีเป้าหมายย่อย 11.6 (ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573) [3] 

สำหรับประเทศไทย มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะค่าความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 ในทุกจังหวัดนับว่าสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกหลายเท่าตัว สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมหาศาล คนไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสในการทำงานและหารายได้ทั้งคนป่วยและคนดูแล สูญเสียร่างกายที่แข็งแรงจากการสะสมมลพิษ สูญเสียค่าใช้จ่ายซื้อหน้ากากอนามัยและเครื่องฟอกอากาศ และที่สำคัญคือการสูญเสียความสุขเพราะต้องอยู่แต่ในบ้าน  [4]  โดยรวมครัวเรือนไทยเผชิญกับมูลค่าความเสียหายจาก PM2.5 สูงถึง 2.173 ล้านล้านบาท ในปี 2562 [5] 

ในระยะยาว หากปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศเรื้อรัง ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและขีดความสามารถของการแข่งขันในตลาดโลก เพราะทรัพยากรมนุษย์เจ็บป่วยโดยเฉพาะเด็ก ๆ เยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต และสินค้าไทยจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าจากการผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศซึ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักหน่วงขึ้น ไม่สามารถดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงมาทำงานในประเทศไทยได้ และคนเก่งของไทยก็จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ จะเห็นว่าต้นทุนในการเพิกเฉยและไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหามีมูลค่ามหาศาลมากต่อสังคมไทย 

เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ภาครัฐได้นำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละอองมาใช้เมื่อปี 2562 [6] อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งปัญหามลพิษทางอากาศได้ โดยในปี 2566 ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน สถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทยนับว่ารุนแรงมากที่สุดในรอบ 5 ปี ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าในกรุงเทพฯ มีจำนวนวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงเกิน 100 (ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง) ถึง 76 วัน จาก 120 วัน ซึ่งมากที่สุดในช่วงปี 2562-2566 ส่วนภาพที่ 2 ก็บ่งชี้ว่าในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงเกิน 150 (ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายมากต่อสุขภาพ) ถึง 59 วัน จาก 120 วัน สูงที่สุดในรอบ 5 ปี นอกจากนั้น ยังพบว่าในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2566 ทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ มีจำนวนวันที่อากาศสะอาดให้หายใจน้อยมาก [7] 

ภาพที่ 1 จำนวนวันในช่วง ม.ค.-เม.ย. ระหว่างปี 2560-2566 จำแนกตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ
ที่มา : The World Air Quality Index Project Team (2023)

ภาพที่ 2 จำนวนวันในช่วง ม.ค.-เม.ย. ระหว่างปี 2560-2566 จำแนกตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่
ที่มา : The World Air Quality Index Project Team (2023)


02 – การเผาในภาคเกษตรเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ PM2.5 ที่สำคัญ

แม้ว่าฝุ่นพิษ PM2.5 จะมาจากหลายแหล่งกำเนิด เช่น ภาคยานยนต์ ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ฯลฯ แต่ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากภาคเกษตรนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงจากการผลิตสินค้าเกษตรทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น การเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงจากการผลิตสินค้าเกษตรยังเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าไม้อีกด้วย เมื่อพิจารณาสถานการณ์การเผาในภาคเกษตร พบว่า การเผาในประเทศเพื่อนบ้านมีสัดส่วนที่สูงกว่าการเผาในประเทศไทย โดยสถานการณ์การเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรภายในประเทศไทยระหว่างปี 2563-2566 ซึ่งวัดจากจำนวนจุดความร้อนที่รายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2563-2566) จะพบว่า การเผาในภาคเกษตรได้ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 และสูงกว่าปี 2564 และ 2565 (แท่งสีแดง ภาพที่ 3ก) สถิติข้างต้นยังไม่รวมการเผาจากการทำเกษตรในพื้นที่ป่าไม้และการเผาจากการทำเกษตรที่ดาวเทียมไม่สามารถตรวจพบได้เนื่องจากมีการเผาหลบหลีกช่วงเวลาที่ดาวเทียมโคจรมายังประเทศไทย และเมื่อพิจารณาพืชที่พบการเผา จะพบว่านาข้าวพบการเผามากที่สุด รองลงมาคือ ไร่ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน และไร่อ้อย ตามลำดับ (ภาพที่ 3ข)

 

ก. จำนวนจุดความร้อนจำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน
     ข. ร้อยละของจำนวนจุดความร้อนจำแนกตามพื้นที่เกษตร

ภาพที่ 3 จำนวนและร้อยละของจุดความร้อนจำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2563, 2564, 2565, 2566) [15] [16][17][18] หมายเหตุ : ปี 2566 จำนวนจุดความร้อนนับถึง 30 เมษายน 2566

สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนจุดความร้อนส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเผาในภาคเกษตร โดยเฉพาะการเผาในนาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย นอกจากนั้น จำนวนจุดความร้อนอีกส่วนหนึ่งยังมาจากการเผาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกมันสำปะหลังซึ่งพบใน สปป.ลาว [8] จากภาพที่ 4 ซึ่งแสดงจำนวนจุดความร้อนรวมที่เกิดขึ้นจากการเผาทั้งในและนอกภาคเกษตรจะพบว่า ในปี 2566 (ค.ศ.2023) สปป.ลาว มีจำนวนจุดความร้อนมากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีอื่น รองลงมาได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ และหากนำจำนวนจุดความร้อนของทุกประเทศมารวมกันจะพบว่า จำนวนจุดความร้อนในอาเซียนตอนบนทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 9 ปี (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 4 จำนวนจุดความร้อนจำแนกตามประเทศในอาเซียนตอนบนระหว่างปี ค.ศ. 2018-2023
ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre (ASMC) (2023)
หมายเหตุ : จำนวนจุดความร้อนในปี ค.ศ. 2023 นับตั้งแต่ 1 ม.ค. –  9 พ.ค. 2566 เท่านั้น

ภาพที่ 5 จำนวนจุดความร้อนรวมในกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนระหว่างปี 2558-2566*
ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre (ASMC) (2023)
หมายเหตุ : จำนวนจุดความร้อนในปี ค.ศ. 2023 นับตั้งแต่ 1 ม.ค. –  9 พ.ค. 2566 เท่านั้น

นาข้าว หมายถึง พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยมีการปลูกข้าวเป็นหลัก
ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน หมายถึง พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมแบบพืชไร่ โดยปลูกข้าวโพดเป็นหลัก รวมถึงพื้นที่ไร่หมุนเวียน ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรมักปลูกข้าวโพดในพื้นที่นี้
อ้อย หมายถึง พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเป็นแบบพืชไร่ โดยปลูกอ้อยเป็นหลัก 
พื้นที่เกษตรอื่น ๆ หมายถึง พื้นที่ที่มีการประโยชน์จากที่ดินเป็นเกษตรกรรมทั้งหมด ไม่นับรวมนาข้าว อ้อย ข้าวโพด และไร่หมุนเวียน 
พื้นที่ป่า หมายถึง พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเป็นพื้นที่ป่า 
และพื้นที่อื่น ๆ หมายถึง พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอื่นใดที่ไม่เป็น นาข้าว อ้อย ข้าวโพด ไร่หมุนเวียน และพื้นที่ป่า

* กลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ไทย และเวียดนาม


03 – นโยบายเเละมาตรการของรัฐในการจัดการ PM 2.5 จากการเผาในภาคเกษตร

เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศรวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในภาคเกษตรทั้งภายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2562 รัฐบาลไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562-2567 [9] และได้มีการปรับปรุงแผนปฏิบัติฯ พร้อมจัดทำแผนเฉพาะกิจในแต่ละปีมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักด้านการเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการผลิตอ้อยและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้มีการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในภาคเกษตร ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

| แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562-2567

แผนการปฏิบัติการฯ ฉบับนี้มีการนำ 3 มาตรการหลักมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผาในภาคเกษตรได้ดังนี้

มาตรการแรก เน้นการให้อำนาจการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จโดยพิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์เฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน โดยเน้นการเร่งสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกเพื่อลดและงดการเผาเศษวัสดุการเกษตรโดยเฉพาะในโรงเรียน ชุมชน และหมู่บ้าน เน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์บูรณาการข้อมูลวิชาการเพื่อพัฒนาและรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้ง และให้จัดทำและดำเนินการตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรให้แล้วเสร็จก่อน 15 กุมภาพันธ์หรือวันที่จังหวัดกำหนด นอกจากนั้น แผนฯ ยังส่งเสริมทางเลือกอาชีพและการจัดการเศษวัสดุการเกษตรโดยให้เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของประชาชน บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย ในระดับระหว่างประเทศ ให้มีการแจ้งเตือนประเทศที่เป็นต้นเหตุหมอกควันและสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อให้ควบคุมสถานการณ์และดำเนินการตามข้อกำหนดในข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย พ.ศ. 2560 เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศโดยใช้กลไกในทุกระดับ ได้แก่ ระดับอาเซียน ระดับคณะกรรมการชายแดนภายใต้กระทรวงกลาโหม และระดับจังหวัดชายแดนคู่ขนานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 

มาตรการที่สอง เน้นไปที่การป้องกันและลดมลพิษที่ต้นทาง มีการกำหนดมาตรการลดการเผาในไร่อ้อยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอ้อย ประกอบด้วย การกำหนดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ กำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อยเพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสดร้อยละ 100  จำนวน 5 จังหวัดภายในปี 2563  ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร และกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/2565 2565/2566 และ 2566/2567 ไม่เกินร้อยละ 10 ต่อวัน ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อวัน และร้อยละ 0 ต่อวัน ตามลำดับ สำหรับพืชอื่นไม่ได้กำหนดเป้าหมายหรือมาตรการแบบเฉพาะเจาะจงเหมือนอ้อย โดยกำหนดเพียงมาตรการกว้าง ๆ เอาไว้ เช่น ส่งเสริมให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ การขยายเครือข่ายเกษตรปลอดการเผาให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมวนศาสตร์เกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ส่งเสริมการใช้มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมการป้องกันไม่ให้เกิดการเผาในที่โล่งและป่าไม้ 

สำหรับมาตรการสุดท้ายเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ได้กำหนดให้มีการทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการจัดระบบการจัดการเชื้อเพลิงในภาคการเกษตร

| นโยบาย/มาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการเผาในภาคเกษตรซึ่งมักจะมีการกำหนดมาตรการในลักษณะปีต่อปีตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยมีการนำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมมาใช้ [10] ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ การป้องกัน การยับยั้ง/เผชิญเหตุ และการแก้ไข/ฟื้นฟู ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

มาตรการที่ 1 เน้นการป้องกันโดยสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรผ่านการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมรณรงค์การหยุดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และรณรงค์ส่งเสริมการใช้เศษวัสดุเพื่อทดแทนการเผา จัดหน่วยปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนเกษตรกรและแนะนำให้ความรู้ด้านการเกษตรปลอดการเผา ส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุเพื่อทดแทนการเผาแก่เกษตรกรผ่านหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรกับเกษตรกร 17,640 ราย กิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกับเกษตรกร 15,400 ราย  กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการจัดการฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวกับเกษตรกร 200 ราย กิจกรรมไถกลบตอซังในพื้นที่ 13,000 ไร่ โครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน 45,000 ไร่ ครอบคลุมเกษตรกร 4,566 ราย 

มาตรการที่ 2 เน้นไปที่การยับยั้ง/เผชิญเหตุซึ่งมี 6 แผนงานหลัก ได้แก่ 1) ติดตามและเฝ้าระวังจุดความร้อนและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน 2) สนับสนุนและประสานการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการฯ จังหวัด รวมทั้งประสานการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในช่วงเวลาห้ามเผา 3) ให้อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) และเครือข่ายอาสาสมัครเกษตร แจ้งเหตุให้ศูนย์รับแจ้งเหตุในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทราบทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์เผาในพื้นที่เกษตรกรรม 4) ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วงกุมภาพันธ์ – กันยายน 2566 5) สนับสนุนรถบรรทุกน้ำในกรณีเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม และ 6) ฉีดละอองน้ำเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง และมาตรการที่ 3 เน้นไปที่การแก้ไข/ฟื้นฟู โดยให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมถอดบทเรียนเหตุการณ์ไฟป่าหมอกควัน การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริหารจัดการในพื้นที่ และการยับยั้ง/เผชิญเหตุ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานและทบทวนกำหนดแผนปฏิบัติการในปีถัดไป 

|  นโยบาย/มาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม

ในฐานะผู้รับผิดชอบการผลิตอ้อยและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินหลายมาตรการเพื่อลดการเผาจากการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงในไร่อ้อย ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562-2567 ที่ได้กล่าวไว้แล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น ได้จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืมใช้เก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อทดแทนการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานและการเผา มีการดำเนินมาตรการหักเงินจากอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตันอ้อยต่อเนื่องกันในหลายฤดูกาลผลิตและนำมาจ่ายให้กับอ้อยส่วนที่ไม่ถูกไฟไหม้ (อ้อยสด) นอกจากนั้นได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดโดยสนับสนุนค่าแรงและค่าใช้จ่ายในการจัดการวัสดุ 120 บาทต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2563/2564 2564/2565 และ 2565/2566 คิดเป็นงบประมาณช่วยเหลืออ้อยตัดสดเท่ากับ 5,885 ล้านบาท 8,034 ล้านบาท และ 7,573 ล้านบาท ตามลำดับ และทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายยังได้ร่วมลงนามกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และโรงงานน้ำตาล 57 แห่ง เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564 และจัดโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2565 – 2567 โดยมีวงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันชาวไร่อ้อยฯลฯ ซึ่ง ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ [11] 

*หมายเหตุ : พิจารณาจากสถิติปริมาณอ้อยสดเข้าหีบจากรายงานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศฉบับปิดหีบ


04 – วิพากษ์นโยบายเเละมาตรการของรัฐที่มีต่อการจัดการฝุ่นพิษ PM2.5 จากการเผาในภาคเกษตร

แม้ว่าภาครัฐได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ข้างต้น แต่ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นสะท้อนให้เห็นว่านโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่นำมาใช้มีช่องว่างมากมาย ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

ในส่วนของช่องว่างของนโยบายและมาตรการภายในประเทศไทย พบว่า 

1) การจัดการกับการเผาไม่ได้ครอบคลุมแบบเฉพาะเจาะจงกับการเผาในนาข้าวและไร่ข้าวโพด มีเพียงอ้อยเท่านั้นที่มีการระบุมาตรการและเป้าหมายที่ชัดเจน 

2) ใช้นโยบายและมาตรการที่ไม่ยั่งยืนและไม่ตรงจุดในการแก้ไขปัญหาการเผาในไร่อ้อย กล่าวคือ มีการตัดราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้กับเกษตรกรแต่ไม่ได้มีการปรับโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ อ้อยไม่เหมือนกับสินค้าเกษตรทั่วไปเพราะไม่ได้เป็นสินค้าที่มีการบริโภคเลย แต่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) จึงไม่เหมาะสม และควรเปลี่ยนการแก้ปัญหาโดยใช้หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ (Extended Producer Responsibility) นอกจากนั้น การตัดราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้กับเกษตรกร 30 บาท/ตัน น้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถจูงใจให้แรงงานหันมารับจ้างตัดอ้อยสดได้ และการให้เงินช่วยเหลืออ้อยตัดสด 120 บาท/ตัน นับว่าไม่ยั่งยืน เพราะไม่ได้ทำให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อลดการเผาอ้อยอย่างถาวร กล่าวคือถ้าหยุดให้ความช่วยเหลือเมื่อไหร่การเผาอ้อยจะกลับมาเหมือนเดิม และการให้เงินช่วยเหลือในลักษณะนี้จะเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตเมื่อปริมาณการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ภาพที่ 6 แสดงให้เห็นว่าร้อยละอ้อยไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจริงในฤดูการผลิต 2565/2566 เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต 2564/2565 จากยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 

3) นโยบายและมาตรการที่ใช้อยู่ในกรอบที่แคบมากทั้งในเชิงพื้นที่เกษตรและจำนวนเกษตรกร ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในวงกว้างได้ เช่น นโยบาย/มาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครอบคลุมเกษตรกรเพียงหลักหมื่นราย ขณะที่จำนวนเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการเผามีมากกว่าหนึ่งล้านราย หรือพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุมเพียงกว่าแสนไร่ต้นๆ ขณะที่พื้นที่การเผาในภาคเกษตรมีมากหลายล้านไร่ และ 

4) นโยบายและมาตรการไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุของปัญหา ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จึงย้อนกลับมาทุกปี เช่น ไม่มีกฎหมายอากาศสะอาดที่บูรณาการกฎหมายและการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา ไม่มีรางวัลให้หน่วยงานที่ทำได้ตามเป้าหมายและบทลงโทษสำหรับหน่วยงานที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ขาดงบประมาณและการจัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ต่อเนื่อง และขาดการใช้มาตรการจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา

ภาพที่ 6 ร้อยละอ้อยไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับแผนปฏิบัติการฯ
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (2566)

สำหรับช่องว่างของนโยบายและมาตรการระหว่างประเทศ พบว่า

1) มาตรการส่วนใหญ่เน้นไปที่การขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อให้ควบคุมสถานการณ์และดำเนินการตามข้อกำหนดในข้อตกลงอาเซียนซึ่งเป็นข้อผูกพันแบบหลวมๆ และไม่มีข้อผูกพันในเชิงกฎหมาย 

2) ขาดการดำเนินการเรื่องการติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการขายหรือรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในและระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดช่องว่างให้ภาคเอกชนสนับสนุนการเผาในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Trademap (2023) (ภาพที่ 7) พบว่า ภาคเอกชนไทยส่งเสริมการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มีการนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2562 หลังรัฐบาลไทยเข้มงวดกับการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยมูลค่านำเข้าข้าวโพดของประเทศไทยจากเมียนมาสูงเป็นอันดับหนึ่งถึง 14,312 ล้านบาท! ในปี 2565 หรือคิดเป็นพื้นที่ที่ไทยสนับสนุนให้มีการเผาไร่ข้าวโพดในเมียนมากว่า 2 ล้านไร่ นอกจากนั้น เมียนมายังมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากภาคเอกชนของไทยเพื่อนำไปเพาะปลูกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ภาพที่ 7 มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดของไทยจากเมียนมาและมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของไทยไปเมียนมา
ที่มา : Trademap (2023)

05 – ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรดำเนินมาตรการใน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกสามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องข้อตกลงรออาเซียน และรูปแบบที่ 2 เป็นมาตรการที่ต้องขอความร่วมมือระดับอาเซียน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

| มาตรการที่สามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องข้อตกลงรออาเซียน

  1. ควรเร่งออกกฎหมายอากาศสะอาดที่บูรณาการกฎหมายและการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยกฎหมายอากาศสะอาดควรครอบคลุมประเด็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา เปิดโอกาสให้มีการใช้มาตรการจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมควบคู่กับการใช้กฎหมายและกฎระเบียบในการแก้ไขปัญหา กำหนดรางวัลให้หน่วยงานที่ทำได้ตามเป้าหมายและบทลงโทษสำหรับหน่วยงานที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย มีงบประมาณที่เพียงพอและมีการจัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ต่อเนื่อง และครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนเหมือนกับสิงคโปร์ที่สามารถเอาผิดกับเจ้าของแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษนอกประเทศไทยหรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง [12]  
  2. ควรเพิ่มมาตรการและเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงกับการจัดการการเผาในนาข้าวและไร่ข้าวโพดเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีเพียงอ้อยเท่านั้นตามกรอบเวลาที่เหมาะสม
  3. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดระเบียบการเผาและเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด
  4. ควรปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่าเป็นแบบการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขกับเกษตรกรให้มากขึ้นเพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตเพื่อลดการเผาจากการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลง ตลอดจนการปลูกพืชอื่นทดแทนข้าว ข้าวโพด หรืออ้อย โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของตลาด
  5. ควรส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และ NGO ในพื้นที่เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้และแนวปฏิบัติกับเกษตรกรถึงทางเลือกที่สามารถทดแทนการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ การจัดการแปลงสำหรับใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว
  6. ควรส่งเสริมให้มีการรวมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย พร้อมสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยและผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่การผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงสำหรับเครื่องจักร
  7. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงอย่างทั่วถึงในราคาที่ไม่สูงมากผ่านเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ด้วยการพัฒนาตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตรให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในทุกพื้นที่
  8. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทางข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร พร้อมศึกษาการเก็บเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ในแปลงเกษตรในระดับที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน
  9. ควรพัฒนาระบบโลจิสติกส์จากแปลงเกษตรกรถึงผู้รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับเกษตรกรและภาคเอกชนผู้รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
  10. ควรให้การช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในอุตสาหกรรมขั้นสูง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการกักเก็บเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรควบคู่กันไปด้วย
  11. ควรส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
  12. สำหรับมาตรการลดการเผาในไร่อ้อย ในปีแรกควรลดเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสดเหลือ 100 บาท/ตัน และหักราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้ 100 บาท/ตัน และปรับค่ารับซื้ออ้อยไฟไหม้ 20 บาท/ตันกับโรงงานน้ำตาลหรือผู้รับซื้ออ้อยไฟไหม้ เพื่อส่งสัญญาณให้เกษตรกรและโรงงานน้ำตาลปรับต้ว โดยเงินที่จัดเก็บได้จะนำเข้ากองทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่เผาอ้อยให้สามารถปรับตัวไปสู่การไม่เผา และช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้เพื่อปรับตัวไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากใบอ้อยและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น จากนั้นในปีที่ 2 ควรยกเลิกเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด และหักราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้เพิ่มเป็น 200 บาท/ตัน และปรับค่ารับซื้ออ้อยไฟไหม้เพิ่มเป็น 50 บาท/ตันกับโรงงานน้ำตาลหรือผู้รับซื้ออ้อยไฟไหม้ โดยเงินทั้งหมดที่จัดเก็บได้จะนำเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เผาอ้อยและโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ให้ปรับตัว  [13]  
  13. ควรให้องค์ความรู้พร้อมเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวไปสู่การไม่เผากับประเทศเพื่อนบ้าน
  14. ควรสนับสนุนการจัดเวทีระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และแบ่งปันความรู้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมช่วยย่อยข้อมูลเชิงเทคนิคที่เข้าใจยากให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับชุมชนในพื้นที่
  15. ควรสนับสนุนการติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมออกแบบมาตรการกีดกันทางการค้าที่เหมาะสมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ
  16. ควรกำหนดให้ภาคการเงินธนาคารผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว โดยการนำเงินกู้ออกจาก “อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ” ไปสู่ “อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” 
  17. ควรกำหนดให้ภาคการเงินธนาคารกำหนดเงื่อนไขการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ในระดับอันตรายในนโยบายและสัญญาสินเชื่อของธนาคาร

| มาตรการที่ต้องขอความร่วมมือระดับอาเซียน

  1. ควรยกระดับความเข้มข้นในความร่วมมือโดยเร่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อควบคุมมลพิษข้ามพรมแดนของอาเซียน The ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control (ACC) เพื่อหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในภูมิภาคในการติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สร้างเวทีระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและแบ่งปันความรู้ จัดทำฐานข้อมูลกลางของอาเซียนด้านผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพของประชาชน และเพิ่มความตระหนักรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษจากหมอกควันต่อสุขภาพ
  2. ควรส่งเสริมการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในลักษณะที่เป็นแบบ sub-region (ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้ง่ายขึ้น
  3. ขอสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากบริษัทเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ

อากาศสะอาดจัดเป็นสินค้าสาธารณะที่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก และภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่เกษตรกร ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนในฐานะผู้บริโภค ก็ควรช่วยกันแก้ไขปัญหา ได้เวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนควรจริงจังกับการแก้ไขปัญหาเพื่อสุขภาพของคนไทยทุกคนที่ดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต และนำประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง  –  ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ 
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 ปี ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO มากขึ้น
SDG Updates | สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้
SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ – SDG Move 
SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน IV : มาตรการล็อกดาวน์กับ PM2.5 ทั่วโลก 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน


อ้างอิง

[1] World Health Organization (WHO). (2021). WHO global air quality guidelines: particulate matter (PM2.5 and PM10), ozone, nitrogen dioxide, sulfur dioxide and carbon monoxide. World Health Organization.

[2] วิษณุ อรรถวานิช คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม นิอร สิริมงคลเลิศกุล พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง รุจิกาญจน์ นาสนิท วิรุฬ ลิ้มสวาท ศิวัช พงษ์เพียจันทร์. (2563). สมุดปกฟ้าอากาศสะอาด ประเทศไทย (Clean Air Blue Paper, Thailand). เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย. ISBN 978-616-393-295-2

[3] ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. (2565). ชื่อเป้าหมายย่อยและตัวชี้วัด SDGs. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. https://www.sdgmove.com/sdg-101/

[4] วิษณุ อรรถวานิช. (2562). ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ. ABRIDGEd สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

[5] Attavanich, W. (2021). Willingness to pay for air quality in Thailand: An analysis of multiple pollutants. Research Paper No.15/2021. Department of Economics, Faculty of Economics, Kasetsart University.

[6] [9] กรมควบคุมมลพิษ. (2562). แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. https://www.pcd.go.th/strategy/แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ-การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง/

[7] The World Air Quality Index Project Team. (2023). Bangkok Air Pollution: Real-time Air Quality Index (AQI). https://aqicn.org/city/bangkok/ (accessed on May 10, 2023).

[8] The Laotian Times. (2023). Cassava Boom Leading to Deforestation, Air Pollution in Laos. Published on March 24, 2023. https://laotiantimes.com/2023/03/24/cassava-boom-leading-to-deforestation-air-pollution-in-laos/ (accessed on April 16, 2023).

[10] เกษตรและสหกรณ์. (2565). การป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมปี 2565/2655. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. https://www.opsmoac.go.th/songkhla-dwl-files-442991791198

[11] กรมประชาสัมพันธ์. (2565). ครม.อนุมัติโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อย ปี 65-67 ปล่อยกู้ปลูกอ้อยและบริหารจัดการไร่อ้อย 6,000 ลบ. รัฐช่วยดอกเบี้ย 2-3%. https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/98407

[12] วิษณุ อรรถวานิช, คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม, ศรัณยุ หมั้นทรัพย์. (2565). สมุดปกเขียวอากาศสะอาด. วิษณุ อรรถวานิช, คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม, เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง, วีณาริน ลุลิตานนท์, ธนพล เพ็ญรัตน์, ศรัณยุ หมั้นทรัพย์, รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ, สุเมธ องกิตติกุล, กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์, มานัส ศรีวณิช, ดารณี จารีมิตร, วิรุฬ ลิ้มสวาท, จักรพันธ์ สุขสวัสดิ์, ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล, ธนาชัย สุนทรอนันตชัย, ดนัยภัทร โภควนิช, และ ธีรัตม์ พรทวีทรัพย์. เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย. ISBN : 978-616-393-372-0

 [13] วิษณุ อรรถวานิช, พัชรี สุริยะ, นภสม สินเพิ่มสุขสกุล, ธนพล ไชยแสน, สันติ แสงเลิศไสว, สมหมาย อุดมวิทิต, ศิวพร พิพิธภักดี และพิชลัณดาห์ สนธิวิฬุรห์. (2565). การประเมินมูลค่าผลประโยชน์สุทธิจากการลดการเผาอ้อยโรงงานและออกแบบมาตรการเชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน. ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN: 978-616-278-726-3

 [14] สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย. (2566). รายงานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ประจำวัน ปีการผลิต 2565/66. http://www.ocsb.go.th/th/cms/detail.php?ID=13844&SystemModuleKey=production

 [15] สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2563). รายงานสรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกจากข้อมูลดาวเทียม ประจำปี 2563. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 [16] สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2564). รายงานสรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอก ปี 2564 โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

[17] สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2565). รายงานสรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ปี 2565. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

[18] สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2566). ดาวน์โหลดข้อมูลสถานการณ์ไฟป่า รายวัน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.). https://fire.gistda.or.th/download-v1.html

Last Updated on มกราคม 23, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น