กรมคุ้มครองสิทธิฯ ชวนแสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. สิทธิมนุษยชน ฉบับใหม่ เผยสาระสำคัญ  ‘ปชช.มีเสรีภาพกำหนดสถานะทางการเมือง’

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน พ.ศ. …” ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่มีเป้าหมายเพื่อให้การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของภาครัฐสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และดำเนินงานด้านพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ

ร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น ประกอบด้วยสาระสำคัญ 6 หมวด ได้แก่ 

หมวด 1 คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
หมวด 2 สิทธิมนุษยชน
หมวด 3 ความร่วมมือและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน
หมวด 4 การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
หมวด 5 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านสิทธิมนุษยชน
หมวด 6 การประสานงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

สำหรับหมวด 2 ยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ‘สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง’ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น 

  • ห้ามมิให้ทรมาน หรือปฏิบัติหรือลงโทษบุคคลด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี
  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใด ๆ
  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียนการพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
  • บุคคลมีสิทธิในการกําหนดเจตจํานงและสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี

ส่วนที่ 2 คือ ‘สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม’ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น

  • บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
  • บุคคลมีสิทธิที่จะทํางานในสภาพการทํางานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ
  • นายจ้างต้องจัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทํางานและสภาพแวดล้อมในการทํางานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
  • บุคคลทุกคนที่ขาดแคลนมีสิทธิได้รับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยจากรัฐรวมทั้งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลืออื่นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สมัยที่ 52 ไทยประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ – ให้คำมั่นจะพัฒนาหลักการเสรีภาพเเละความยุติธรรม
SDG Recommends | รายงานร่วมตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) โดย FIDH iLaw ศูนย์ทนายสิทธิฯ และ สสส.
ไทยเตรียมเสนอ ‘รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย’ รอบที่ 3 ต่อ UNHRC
‘สิทธิเด็กผู้หญิงในการศึกษา’ : ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอันดับต้น คงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนและการศึกษาโดยมี UK เป็นผู้นำ
หากไทยไร้เสรีภาพสื่อ จะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ได้แค่ไหน?

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.7) ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และภายในปี พ.ศ. 2568 ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

แหล่งที่มา: โครงการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน พ.ศ (Law ระบบกลางทางกฎหมาย)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น