รายงาน UNEP เตือน ภายในปี 2593 ‘ขยะมูลฝอยชุมชน’ จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านตัน  – หากไม่มีการจัดการอย่างเร่งด่วน

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) เผยแพร่รายงานแนวโน้มการจัดการขยะและของเสียทั่วโลก 2567 (GWMO 2024) ในหัวข้อ ‘Beyond an Age of Waste: Turning Rubbish into a Resource’ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์  2567 ณ เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 (The sixth session of the United Nations Environment Assembly : UNEA 6) รายงานฉบับนี้ ได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลก โดยเตือนว่า ภายในปี 2593 ขยะชุมชนจะเพิ่มขึ้นสองในสาม และมีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จึงเรียกร้องให้หยุดการเติบโตของขยะ โดยการเปลี่ยนมาใช้แนวทางลดขยะเหลือศูนย์  และโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน

รายงานดังกล่าว เน้นย้ำว่าขยะมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติหลักสามประการ (triple planetary crisis) ที่มนุษย์โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  2) มลพิษ และ 3) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตามการคาดการณ์จะเกิดขยะมูลฝอยชุมชนเพิ่มขึ้น จาก 2.3 พันล้านตัน ในปี 2566 เป็น 3.8 พันล้านตัน ในปี 2593 โดยในปี 2563 พบว่าต้นทุนทางตรง หรือต้นทุนที่หน่วยงานนั้น ๆ ต้องใช้ในการจัดการขยะทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 252 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากถึง 361 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคำนวณรวมต้นทุนแฝงด้านมลพิษ สุขภาพที่ย่ำแย่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการจัดการขยะที่ไม่ดี และหากไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการปรับปรุงการจัดการขยะ คาดว่าต้นทุนรวมของการจัดการขยะมูลฝอยทั่วโลก ภายในปี 2593 จะสูงถึง 640.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานดังกล่าว มีเนื้อหาที่น่าสนใจในหลายประเด็น เช่น

  • การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการป้องกันและการจัดการของเสีย
  • ห้ามนำวัสดุที่เป็นปัญหา เช่น สารเคมีอันตราย และให้ดำเนินการตามหลักการบังคับใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม
  • การนำแนวทางการเรียนรู้อย่างครอบคลุมและพฤติกรรมศาสตร์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยง การรีไซเคิล และการกำจัดขยะ
  • บูรณาการหลักการของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเข้ากับการตัดสินใจ เพื่อให้มั่นใจว่าภาคส่วนนอกระบบให้คุณค่าและโครงการต่าง ๆ มีการตระหนักถึงประเด็นความละเอียดอ่อนทางเพศ (gender-sensitive)
  • สร้างความเชี่ยวชาญระดับชาติ เพื่อพัฒนานโยบายที่เหมาะสมกับบริบทให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดและการจัดการของขยะ

นอกจากนี้ รายงานยังกล่าวถึงการลำดับความสำคัญในการจัดการขยะ 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนไปใช้แนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์และโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อป้องกันการทิ้งและการเผาขยะในที่โล่ง และกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกจัดหาสินค้าและบริการในลักษณะที่หลีกเลี่ยงการสร้างขยะ ในขณะเดียวกันก็เลิกใช้วัสดุที่เป็นปัญหาและก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทางในการช่วยลดผลกระทบเชิงลบในการจัดการขยะในปัจจุบัน พร้อมมองหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย โดยพยายามอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรโดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
UNEP Report Calls for Shift to Zero Waste to Prevent Runaway Negative Impacts – IISD
Beyond an age of waste – UNEP

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น