แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของ SDGs จะเป็นการพัฒนาในระดับโลก แต่การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินงานในระดับพื้นที่
วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติทั่วโลก เป้าหมายเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นภารกิจที่ต้องบรรลุในระดับประเทศและระดับโลก แต่ยังมีความสำคัญยิ่งในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ที่ปัญหาหลายประการแสดงออกมาอย่างชัดเจนและมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของประชาชน
การนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า SDG Localization ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในแต่ละชุมชน โดยการนำเป้าหมายและกลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้ตามบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ SDG Localization ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินการ ไปจนถึงการติดตามผล เพื่อให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ตนเอง
บทความต่อไปนี้มุ่งนำเสนอความสำคัญของ SDG Localization โดยอธิบายถึงพัฒนาการของแนวคิด Localization ความสำคัญของ SDG Localization บทบาทสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ รวมถึงถึงการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง
ทั้งนี้ความรู้เรื่อง SDG Localization มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับโครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน หรือ “AREA Need” ที่มีเป้าหมายปลายทางของโครงการมุ่งเน้นการระบุความต้องการและช่องว่างความรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ใหม่มาอุดช่องว่างเหล่านั้น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การดำเนินงานแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) และการนำกรอบเป้าหมาย SDGs ไปใช้จริงในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

01 – SDG Localization คืออะไร ?
SDG Localization หรือ การนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ หมายถึง กระบวนการในการกำหนด ดำเนินการ และติดตามกลยุทธ์ในระดับท้องถิ่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับภายในประเทศ1 โดยต้องคำนึงถึงบริบทท้องถิ่นในการบรรลุวาระ 2030 ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด การกำหนดวิธีดำเนินการ ไปจนถึงการใช้ตัวชี้วัดเพื่อการติดตามความก้าวหน้า2
SDG Mainstreaming เน้นการบูรณาการในระดับชาติและการทำให้ SDGs เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและการบริหาร
SDG Localization เน้นการนำ SDGs มาประยุกต์ใช้ในระดับท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน
แนวคิดนี้มีพัฒนาการมาจากการตระหนักว่าการพัฒนาจากบนลงล่าง (top-down) เพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม กระบวนการการนำ SDGs ไปปรับใช้ในพื้นที่ควรเป็นกระบวนการแบบสองทาง คือ การใช้เป้า SDGs เป็นแนวทางในการวางแผนและดำเนินงานพัฒนาในระดับท้องถิ่น โดยพิจารณาถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และการที่รัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาคสามารถสนับสนุนการบรรลุ SDGs ผ่านการดำเนินงานจากระดับล่างขึ้นบน (bottom-up) การสร้างความเป็นเจ้าของในระดับท้องถิ่น จึงเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะจะช่วยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

SDG 11 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายนี้เป็นหัวใจสำคัญของการนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง การที่ SDG 11 ได้รับการบรรจุไว้ในวาระการพัฒนา 2030 นั้นเป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างเข้มข้นของตัวแทนชุมชนเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยอมรับกันในระดับสากล
SDG 11 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายนี้เป็นหัวใจสำคัญของการนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง3 การที่ SDG 11 ได้รับการบรรจุไว้ในวาระการพัฒนา 2030 นั้นเป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างเข้มข้นของตัวแทนชุมชนเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยอมรับกันในระดับสากล
เพื่อให้การดำเนินงานและการติดตามผล SDG 11 มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีกลไกการประสานงานที่เข้มแข็งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดความสอดคล้องและบูรณาการในการทำงาน การเชื่อมโยง SDG 11 กับมิติด้านเมืองของเป้าหมายอื่น ๆ อีก 16 เป้าหมาย ถือเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น และช่วยส่งเสริมบทบาทของบริบทท้องถิ่นในการบรรลุ SDGs ในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
พัฒนาการของแนวคิด Localization

แนวคิด Localization ได้รับความสนใจในแวดวงการพัฒนามาเป็นเวลานาน ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCED) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี ค.ศ. 1992 สหประชาชาติได้อนุมัติ Local Agenda 21 หรือ แผนปฏิบัติการระดับท้องถิ่น 21 ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่เน้นการสร้างนโยบายและการพัฒนาในระดับท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านการส่งเสริมให้รัฐบาลร่วมมือหารือกับชุมชนท้องถิ่น กระบวนการนี้ยังครอบคลุมถึงการสร้างความตระหนักรู้ การเสริมสร้างความสามารถ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ
การทบทวนการดำเนินงานระยะกลาง (mid-term review) ของ Millennium Development Goals (MDGs) ในปี ค.ศ. 2008 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ localization ในการพัฒนา โดยพบว่าความเป็นเจ้าของ ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมของสถาบันระดับท้องถิ่นเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา แม้ว่าข้อค้นพบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงกลางของการดำเนินงานตาม MDGs ไปแล้ว แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค (Local and Regional Governments: LRGs) และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาในอนาคต
02 – บทบาทของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในการขับเคลื่อน SDGs และการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งแก้ไขปัญหาโลก ทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนท้องถิ่น การบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระดับท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในภาพรวมระดับโลก หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs และ “ทำให้ SDGs เป็นเรื่องของท้องถิ่น” (Localizing SDGs) เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดประชาชน สามารถเข้าใจความต้องการและบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่าหน่วยงานระดับชาติ
บทบาทสำคัญของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในการขับเคลื่อน SDGs สามารถสรุปได้ดังนี้
- หน่วยงานปกครองท้องถิ่น/ภูมิภาคมีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการพัฒนาชุมชน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs โดยตรง เช่น การจัดการขยะมูลฝอยและการบำบัดน้ำเสีย (SDG 6 และ 11) การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) การพัฒนาบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ (SDG 3) และการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11) การดำเนินงานเหล่านี้ถือเป็นการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
- หน่วยงานปกครองท้องถิ่น/ภูมิภาคสามารถกำหนดนโยบาย วางแผน และดำเนินโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับ SDGs โดยพิจารณาจากบริบทและความต้องการของท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
- หน่วยงานปกครองท้องถิ่น/ภูมิภาคมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในระดับพื้นที่ เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงรายงานความก้าวหน้าและอุปสรรคต่อหน่วยงานระดับชาติและเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการปรับปรุงนโยบายและแผนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
03 – การหารือในระดับโลกในประเด็น Localizing

แนวคิด Localization เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระดับสากล ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาหลัง ค.ศ. 2015 กลุ่มพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Group) จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือระดับโลกเพื่อศึกษาแนวทางการปรับใช้ SDGs ในระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ4 เมื่อปี ค.ศ. 2014 ผ่านการจัดกระบวนการเพื่อพูดคุยใน 13 ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 5,000 คนจากกว่า 80 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากสถาบันทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาค องค์กรภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเอกชน
สาระสำคัญที่ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องต้องกัน มีดังนี้
- หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมภายในพื้นที่ของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นพันธมิตรที่จำเป็นในการดำเนินการ SDGs
- การปกครองท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพสามารถรับรองการรวมกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นเจ้าของ ความมุ่งมั่น และการรับผิดรับชอบในการดำเนินงานได้
- การดำเนินการแบบบูรณาการในหลายระดับและการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย (multi-stakeholder approach) เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น
- การสนับสนุนจากระดับชาติที่มีความจริงจังในการจัดเตรียมกรอบกฎหมายที่เหมาะสม รวมทั้งศักยภาพทางสถาบันและการเงินที่เพียงพอ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ SDGs
หลังจากการหารือ ผลลัพธ์นี้ได้นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำ SDGs ไปปรับใช้ระดับท้องถิ่น โดยความร่วมมือระหว่าง UNDP, UN-Habitat, และ Global Taskforce of Local and Regional Governments ได้แก่ “Roadmap for Localizing the SDGs” เพื่อแนะนำกระบวนการปรับ SDGs ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นอย่างครอบคลุม
04 – เครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่อกระบวนการ SDG Localization
แผนที่นำทางสำหรับ SDG Localization

เอกสาร Roadmap for Localizing the SDGs: Implementation and Monitoring at Subnational Level5 เสนอ 4 กลยุทธ์สำหรับการนำ SDGs ไปปรับใช้ได้ในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย
- การสร้างความตระหนักรู้เรื่อง SDGs ภายในพื้นที่ (Awareness-raising) – เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นต้องสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับ SDGs ให้เข้าใจง่าย และเชื่อมโยงกับปัญหาและโอกาสที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกิจกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- การผสานมุมมองท้องถิ่นในยุทธศาสตร์ SDGs ระดับชาติ (Advocacy) – หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดนโยบายและแผนงานระดับชาติที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้การดำเนินงานตาม SDGs มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นสามารถทำได้โดยการนำเสนอข้อมูลและหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานในระดับพื้นที่ และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนร่วมกัน
- การนำ SDGs ไปปฏิบัติจริง (Implementation) – หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น/ภูมิภาคต้องเริ่มจากการประเมินความต้องการในพื้นที่และกำหนดลำดับความสำคัญร่วมกับชุมชน การปรับแผนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับ SDGs การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำท้องถิ่น รวมถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นผ่านการร่วมมือในด้านการพัฒนา
- การติดตามประเมินผลและเรียนรู้จากประสบการณ์ (Monitoring) – ในการติดตามผล SDGs ระดับชาติ ควรใช้ข้อมูลจากระดับท้องถิ่นในการประเมินผลและทบทวนแผนระดับชาติ โดยต้องพัฒนาชุดตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและทำให้ข้อมูลจากหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น/ภูมิภาคมีส่วนร่วมในการติดตามและรายงานผลระดับชาติ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทบทวนแผนระดับชาติและนำเสนอความสำเร็จในระดับท้องถิ่นในรายงานความก้าวหน้าของ SDGs ในระดับชาติ
ปัจจัยเอื้อต่อกระบวนการ SDG Localization
นอกจากนี้ เอกสาร SDG Localization in ASEAN: Experiences in Shaping Policy and Implementation Pathways ได้นำเสนอ “ปัจจัยเอื้อ” (Enablers) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญในการสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นการนำ SDGs ไปปรับใช้ในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาแนวทางแบบบูรณาการ การดำเนินการ และการติดตามผลการบรรลุ SDGs ปัจจัยเอื้อเหล่านี้ ประกอบด้วย
1. สภาพแวดล้อมทางนโยบายและสถาบันที่เอื้อต่อการดำเนินการ
การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำ SDGs ไปปรับใช้ในบริบทท้องถิ่นจำเป็นต้องใช้แนวทางการทำงานแบบองค์รวมของรัฐบาล (Whole-of-government approach) โดยการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องในนโยบาย การประสานงาน และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบและความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบการปกครองที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
2. ระบบข้อมูล
ข้อมูลที่เชื่อถือได้และจำแนกตามกลุ่มต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตัดสินใจและการติดตามความก้าวหน้าของ SDGs หากไม่มีระบบข้อมูลที่เข้มแข็งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น การกำหนดลำดับความสำคัญและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำเนินการ SDGs จะทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
3. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุ SDGs โดยต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานระหว่างประเทศ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางการเมืองตามวาระการพัฒนา 2030 เกิดขึ้นได้จริง
4. การจัดหาเงินทุนสำหรับ SDGs
การบรรลุ SDGs ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ซึ่งต้องการการระดมทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังต้องมีการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถสนับสนุนการบรรลุ SDGs ได้ทั้งในระดับใหญ่และระดับเล็ก
5. นวัตกรรม
นวัตกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ “cross-cutting” ครอบคลุมและบูรณาการในทุกปัจจัยข้างต้น การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับสังคมสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ SDGs ภาครัฐควรมีการสนับสนุนนวัตกรรมและพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ในการบรรลุ SDGs
การดำเนินการตามปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยในการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นและสร้างผลลัพธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
05 – Voluntary Local Reviews (VLRs) ตัวเร่ง SDG Localization
รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับท้องถิ่นโดยสมัครใจ (VLRs) เป็นกระบวนการติดตามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระดับท้องถิ่น และเป็นตัวเร่งสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการ SDG Localization6 โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs ในระดับท้องถิ่น รายงาน VLRs ทำหน้าที่เสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพความสำเร็จ อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่
แม้ว่ากระบวนการการจัดทำ VLRs จะไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการในเวทีระดับโลก แต่การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการแก่หน่วยงานและต่อการขับเคลื่อน SDGs โดยรวม ข้อมูลและบทเรียนที่ได้จาก VLRs สามารถนำไปใช้ในการจัดทำรายงานผลการทบทวนความก้าวหน้าระดับชาติโดยสมัครใจ (VNRs) ทำให้รายงานระดับชาติมีความครอบคลุมและสะท้อนความเป็นจริงในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค (LRGs) 235 แห่งจากทุกภูมิภาคทั่วโลก (ครอบคลุมประชากรรวม 500 ล้านคน) ได้จัดทำและเผยแพร่รายงาน VLRs แล้วรวมทั้งสิ้น 295 ฉบับ7 รายงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลภูมิภาคในการเสริมสร้างกระบวนการ SDG Localization และเป็นการจัดหาข้อมูลระดับท้องถิ่นที่สำคัญให้กับหน่วยงานรัฐบาลระดับประเทศเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป
หน่วยงานและแพลตฟอร์มหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุน SDG Localization
Global Task Force of Local and Regional Governments (GTF)
GTF ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2012 ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานด้านนโยบายระหว่างประเทศในหมู่หน่วยงานการปกครองระดับท้องถิ่น การดำเนินงานของ GTF มุ่งเน้นไปที่
– พัฒนาชุดเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในการติดตามความก้าวหน้าและการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระดับชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการบูรณาการและการปรับเป้าหมาย SDGs ให้สอดคล้องกับแผนงานในระดับท้องถิ่น
– สร้างกลไกการรายงานในระดับท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ในการรายงานความก้าวหน้าระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews) และใช้ประสบการณ์ของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างการติดตามและการทบทวนความก้าวหน้าของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ในระดับโลก
– ส่งเสริมความตระหนักรู้เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามกรอบ SDGs ในระดับพื้นที่
– ระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
Local2030
Local2030 เป็นเครือข่ายและแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการดำเนินงาน SDGs ในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทรัพยากรแบบครบวงจรสำหรับการนำ SDGs ไปปรับใช้ในพื้นที่ และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับพันธมิตรต่างๆ เช่น รัฐบาลระดับประเทศ ภาคธุรกิจ องค์กรชุมชน และผู้มีบทบาทในท้องถิ่นอื่นๆ แพลตฟอร์มนี้สนับสนุนการแบ่งปันแนวทางแก้ไขปัญหาและแนวปฏิบัติที่ดี การแก้ไขปัญหาคอขวด และการดำเนินกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ และมี “ชุดเครื่องมือ” ที่ประกอบด้วยกลไกและเครื่องมือสำหรับสนับสนุนการพัฒนา การดำเนินงาน การติดตาม และการทบทวนความก้าวหน้าของ SDGs ในระดับท้องถิ่
06 – การดำเนินงานด้าน SDG Localization ในประเทศไทย
การจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประเทศไทย ได้ริเริ่มการพัฒนา “ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด” มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 ตัวชี้วัดเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินสถานะการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ในหลากหลายมิติ ซึ่งออกแบบโดยอ้างอิงกับกรอบ SDGs เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทบทวนและปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติและระดับโลก
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา จังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้นำตัวชี้วัดการพัฒนามาใช้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สศช. ยังคงปรับปรุงฐานข้อมูลตัวชี้วัดให้มีความเป็นปัจจุบัน และทบทวนตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการได้มาซึ่งข้อมูลที่นำมาจัดทำตัวชี้วัด ซึ่งจะต้องมีการจัดเก็บครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดและต่อเนื่องทุกปีหรือปีเว้นปี
ความสำคัญของการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ได้รับการยืนยันจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างกลไกขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่ ต่อมา มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ได้สนับสนุนหลักการการจัดกลุ่มจังหวัดตามศักยภาพที่แตกต่างกัน 4 ระดับ เพื่อนำร่องการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่นที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัด
ตัวชี้วัด
สศช. ได้จัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยอ้างอิงกับกรอบ SDGs ทั้ง 5 มิติ (5Ps) ได้แก่ การพัฒนาคน (People) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) โดยตัวชี้วัดในแต่ละมิติ ประกอบด้วย
- มิติการพัฒนาคน (People): สัดส่วนประชากรยากจน, ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์, เด็ก 0-5 ปีที่มีพัฒนาการสมวัย, อัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี, ประชากรที่เจ็บป่วยที่เป็นผู้ป่วยใน, อัตราส่วนประชากรต่อแพทย์, การเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา, จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยประชากรไทยอายุ 15-59 ปี และคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-NET ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity): อัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้เฉลี่ยของเดือนของครัวเรือน, อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์จังหวัด, มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดเฉลี่ยต่อหัว, อัตราการขยายตัวรายได้ท่องเที่ยว, อัตราการว่างงาน, อัตราส่วนหนี้เฉลี่ยต่อรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน, ผลิตภาพแรงงาน, แรงงานที่มีหลักประกันทางสังคม, ครัวเรือนที่มีที่อยู่อาศัยใช้วัสดุคงทนและเป็นของตนเอง, หมู่บ้านที่ถนนสายหลักใช้การได้ตลอดปี และสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้
- มิติสิ่งแวดล้อม (Planet): อัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้, สัดส่วนปริมาณขยะที่กำจัดถูกต้อง, ครัวเรือนที่เข้าถึงน้ำประปา, ประชากรที่ประสบภัยพิบัติ และอัตราการร้องเรียนปัญหามลพิษ
- มิติสันติภาพและความยุติธรรม (Peace): การแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์, จำนวนผู้ต้องหาคดียาเสพติด, จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด, จำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการฆ่าตัวตายสำเร็จ
- มิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership): ประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต, ภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้, ความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณ และจำนวนองค์กรชุมชน
ที่ผ่านมา สศช. ได้จัดทำเอกสารตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมแล้ว 7 ฉบับ ได้แก่ ฉบับสิงหาคม 2558 สิงหาคม 2559 ธันวาคม 2561 พฤษภาคม 2564 กรกฎาคม 2564 กันยายน 2565 และ กันยายน 2566
ด้วยชุดตัวชี้วัดที่ครอบคลุมและเป็นปัจจุบันนี้ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจึงมีเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการพัฒนาในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นแนวโน้มและประเด็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนและจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงการกำหนดแผนงานและโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป้าหมาย SDGs นอกจากนี้ หน่วยงานราชการส่วนกลางยังสามารถใช้ตัวชี้วัดเหล่านี้ในการวิเคราะห์และระบุพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของตน เพื่อการจัดสรรงบประมาณและโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด ส่งผลให้การขับเคลื่อน SDGs ในระดับประเทศเป็นไปอย่างมีทิศทางและเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โครงการ Strengthening SDG Localization in Thailand
โครงการ “Strengthening SDG Localization in Thailand” หรือ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่นในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย นำโดยกระทรวงมหาดไทย องค์การสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป โดยมีสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โครงการนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการบูรณาการเป้าหมาย SDGs เข้าสู่กระบวนการวางแผนและดำเนินงานในระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตระหนักว่าการบรรลุเป้าหมาย SDGs นั้น จำเป็นต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในระดับฐานราก
โครงการ Strengthening SDG Localization in Thailand มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นต่อเป้าหมาย SDGs ให้ความสำคัญกับการเสริมศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และประชาชนในระดับจังหวัดและชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs และสามารถนำเป้าหมายเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของตน
กิจกรรมที่สำคัญของโครงการฯ คือการจัดทำ “รายงานโปรไฟล์ SDGs ระดับจังหวัด“ ซึ่งครอบคลุมจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs ในแต่ละจังหวัด รายงานโปรไฟล์ SDGs ระดับจังหวัด ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในระดับท้องถิ่นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมาย SDGs ระดับสากลกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติควบคู่ไปกับแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่
กระบวนการจัดทำรายงานโปรไฟล์ SDGs ระดับจังหวัด เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ที่มีอยู่ จากนั้นจึงเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่สะท้อนภาพความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน รายงานเหล่านี้ใช้ SDG Indicators เป็นกลไกมาตรฐานในการติดตามและประเมินผล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสอดคล้องและเชื่อมโยง และเน้นย้ำว่าความร่วมมือในระดับท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุวาระการพัฒนาระดับโลก
จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานเรื่อง SDG Localization ในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ ตั้งแต่การพัฒนาตัวชี้วัดระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดย สศช. เพื่อเป็นเครื่องมือติดตามและประเมินผล ไปจนถึงโครงการ Strengthening SDG Localization in Thailand ที่เป็นความร่วมมือกับ UN และ EU เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น โดยหัวใจสำคัญของแนวทางการดำเนินงานนี้คือการสร้างความเข้าใจเรื่องเป้าหมาย SDGs ในระดับพื้นที่ การใช้ข้อมูลและตัวชี้วัดที่เหมาะสม และการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุมทั่วประเทศ
07 – บทสรุป
SDG Localization ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างแท้จริงในระดับท้องถิ่น แนวคิดนี้มุ่งเน้นการนำหลักการและเป้าหมายสากลของ SDGs มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบท สภาพปัญหา และความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและรัฐบาลท้องถิ่นในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลัก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แนวคิด SDG Localization ได้พัฒนาและขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นเครื่องมือและแนวทางการปฏิบัติที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับท้องถิ่นโดยสมัครใจ (Voluntary Local Reviews: VLRs) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยประเมินความก้าวหน้า ระบุความท้าทาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่นในเวทีสากล
การขับเคลื่อน SDG Localization ให้ประสบความสำเร็จในประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้การดำเนินงาน SDG Localization เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน การพัฒนาระบบข้อมูลและสถิติที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้ การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม และการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่เพียงพอและต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเท่านั้น ประเทศไทยจึงจะสามารถขับเคลื่อนและบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างแท้จริง
● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
– Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
– Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคกลางต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคใต้ต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– Director’s Note: 01 -โครงการ Area-Needs, สกสว. และ SDG Move
– Policy Brief | บทสรุปนโยบายที่ต้องการระดับพื้นที่จาก Area Need ปีที่ 2 และทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
เนตรธิดาร์ บุนนาค – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ
เอกสารอ้างอิง
[1]Our work: Voluntary Local Reviews. (n.d.). Localizing the SDGs by UN-Habitat. Retrieved from https://sdglocalization.org/our-work#vlr
[2][3]Global Taskforce of Local and Regional Governments, UN Habitat, & UNDP. (2016). Roadmap for localizing the SDGs: Implementation and monitoring at subnational level.
[4]UN-Habitat. (2014). Dialogues on localizing the post-2015 development agenda.
[5]เข้าถึงเอกสาร “Roadmap for Localizing the SDGs: Implementation and Monitoring at Subnational Level” ฉบับภาษาไทย ภายใต้ชื่อ “แผนที่นำทางเพื่อการพัฒนา SDGs ในระดับพื้นที่: การดำเนินการและการติดตามผล” ได้ที่ https://www.sdgmove.com/2018/05/24/map-localizing-sdgs/ แปลโดยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[6]Our work: Voluntary Local Reviews. (n.d.). Localizing the SDGs by UN-Habitat. Retrieved from https://sdglocalization.org/our-work#vlr
[7]United Cities and Local Governments (UCLG). (2024). Towards the 2024 High-Level Political Forum: Local and regional governments’ report to the HLPF. Retrieved from https://gold.uclg.org/sites/default/files/uploaded/HLPF2024.pdf
Oosterhof, P. D. (2018). Localizing the SDGs to accelerate the implementation of the 2030 agenda for sustainable development: Governance briefs. https://doi.org/10.22617/brf189612
United Nations Development Programme (2019). SDG Localization in ASEAN: Experiences in shaping policy and implementation pathways. Retrieved from https://www.undp.org/publications/sdg-localization-asean-experiences-shaping-policy-and-implementation-pathways
Last Updated on มีนาคม 20, 2025