ราคายาเม็ดคุมกำเนิดสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในเวเนซุเอลา ผู้หญิงหลายล้านเสียความสามารถในการควบคุมชีวิต

วิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นในเวเนซุเอลา ทำให้ประชากรหลายล้านในประเทศไม่สามารถเข้าถึงความต้องการพื้นฐานเพื่อการมีชีวิตที่ดีและปลอดภัยได้ การเข้าถึงอาหาร น้ำสะอาด สุขาภิบาล การศึกษา และการดูแลสุขภาพรวมถึงบริการทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์มีข้อจำกัดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อ

เวเนซุเอลากำลังเข้าสู่ปีที่แปดของวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบมาชีวิตผู้หญิงหลายล้านคนในประเทศ พวกเธอสูญเสียอำนาจในการจัดการชีวิตตนเองเพราะไม่สามารถหาเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการคุมกำเนิดได้อีกต่อไปในประเทศนี้ การตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แทบจะไม่สามารถหาอาหารเลี้ยงดูลูกๆ ที่มีอยู่แล้วได้

ราคาถุงยางอนามัย 3 ชิ้น ในกรุงคาราคัส เมืองหลวงประเทศเวเนซุเอลา เท่ากับ 4.40 ดอลลาร์ คิดเป็น 3 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนของคนในประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 1.50 ดอลลาร์

ยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับหนึ่งเดือนมีราคาแพงกว่าถุงยางอนามัยสองเท่า ราคาประมาณ 11 ดอลลาร์ ในขณะที่ห่วงอนามัย (Intrauterine Device : IUD) อาจมีราคาสูงกว่า 40 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 25 เท่า และเป็นราคาที่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมแพทย์ในการใส่อุปกรณ์ให้

ภายปี 2015 ยาคุมกำเนิดซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีให้บริการฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ และมีขายในราคาไม่สูงมากตามร้านขายยาเอกชนทั่วไปเริ่มหายไป ผู้หญิงเริ่มสูญเสียการควบคุมชีวิตเพราะการวางแผนชีวิตด้วยการคุมกำเนิดเป็นเรื่องยากขึ้น และจากการศึกษาสิทธิในการเจริญพันธุ์ของ Equivalencies in Action เมื่อสิ้นปี 2018 ก็แทบเป็นไม่ได้เลยที่จะหาซื้อยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน แบบฝังใต้ผิวหนัง หรือแบบแปะบนผิวหนังในเมืองใหญ่ๆ

คู่สมรสเริ่มใช้วิธีลดหรืองดการมีเพศสัมพันธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ หลายคู่พยายามวางแผนการคุมกำเนิดตามรอบเดือนของผู้หญิงแต่ก็ไม่ได้ผลเสมอไป และไม่ใช่ทุกคนที่มีทางเลือก เมื่อวิกฤตทวีความรุนแรงขึ้น ผู้หญิงหลายคนบอกว่าการล่วงละเมิดทางเพศจึงเกิดขึ้นเช่นกัน เพราะยากที่จะสามารถปฏิเสธคู่ครองได้ทุกครั้งและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยุติความสัมพันธ์

เมื่อค่าใช้จ่ายในการคุมกำเนิดอยู่นอกเหนือความไม่สามารถ และไม่อาจแบกรับภาระทางการเงินจากการมีลูกเพิ่มได้ ผู้หญิงหลายคนจึงเลือกการทำแท้งเป็นทางออก ซึ่งการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศเวเนซูเอลา จึงเกิดเครือข่ายใต้ดินเพื่อช่วยให้ผู้หญิงหาวิธียุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพด้วยยาเม็ด แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้ยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถซื้อได้ เมื่อไม่มีทางเลือกจึงใช้บริการคลินิกทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยหรือพยายามทำแท้งด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

วิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้ เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ และการบูรณาการอนามัยการเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573 และ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

อ้างอิง
https://jezebel.com/birth-control-is-nearly-impossible-to-find-in-venezuela-1846322582
https://www.nytimes.com/2021/02/20/world/americas/venezuela-birth-control-women.html
https://www.nytimes.com/2020/04/10/world/americas/venezuela-pregnancy-birth-death.html

Last Updated on เมษายน 6, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น