หาคำตอบว่าโครงการริเริ่มที่นำโดยเมือง (City-led) เร่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าการบรรลุ SDGs ได้อย่างไร

ภายในปี 2050 ประชากรกว่าสองในสามของโลกจะอยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมือง ดังนั้น โครงการริเริ่มด้านการพัฒนาต่างๆ ที่เมืองเป็นผู้มีบทบาทนำ (City-led initiative) จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) คาดการณ์ว่า ประชาคมโลกจะไม่สามารถบรรลุ 65% ของเป้าประสงค์ (targets) ของ SDGs ได้หากปราศจากการมีทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างองค์การการปกครองท้องถิ่นและองค์การบริหารระดับภูมิภาค

Devex เว็บไซต์ข่าวสารสำหรับประเด็นการพัฒนาทั่วโลก ร่วมกับ City Cancer Challenge Foundation (C/Can) จัดทำรายงานรวบรวมบนสนทนาเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ดำเนินการโครงการริเริ่มที่นำโดยเมืองในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง (LMICs) และทำการสำรวจออนไลน์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติที่มีประสบการณ์ในโครงการระดับเมือง เพื่อค้นหาคำตอบว่าโครงการริเริ่มต่างๆ ที่เมืองเป็นผู้มีบทบาทนำจะเร่งการเดินหน้าบรรลุ SDGs ได้อย่างไร

รายงาน Accelerating progress toward the SDGs through city-led initiatives ค้นพบข้อมูลที่สำคัญ 5 ประการดังนี้

  1. การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพช่วยทำให้เห็นความต้องการที่แท้จริงของเมือง
    ผลการศึกษาและข้อมูลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าโครงการที่นำโดยเมืองที่ใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพเป็นตัวขับเคลื่อน มีความเข้าใจต่อบริบทและความต้องการของเมืองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า และยั่งยืนกว่า
  2. การมีส่วนร่วมของชุมชนสามารถสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด มีความเหมาะสมเฉพาะเจาะลงมากกว่า
    การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและความรู้ในท้องถิ่นช่วยทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่และทำให้โครงการนั้นมีความยั่งยืนมากขึ้น โดย 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าโครงการริเริ่มของชุมชนมีความยั่งยืนมากกว่า เพราะมีแนวโน้มตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้ตรงจุดมากกว่า จึงได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน
  3. รูปแบบความร่วมมือของหลายภาคส่วนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
    การทำงานข้ามภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคเอกชนด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความยืดหยุ่นของโครงการ และยังช่วยจัดการกับ SDGs เป้าหมายอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันหลายๆ เป้าหมายไปพร้อมกันด้วย โดย 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ความร่วมมือของหลายภาคส่วนในระดับเมืองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
  4. การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะช่วยเพิ่มสมรรถภาพท้องถิ่น
    65% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ทำงานด้านการพัฒนาเมือง กล่าวว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดเมื่อมีการดำเนินการโครงการริเริ่มที่นำโดยเมืองในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับเมืองขาดความสามารถ ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาเพื่อระบุช่องว่างดังกล่าวและพิจารณาว่าต้องการการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด และสร้างพันธมิตรระดับเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้แบบข้ามชุมชน
  5. มีการวางแผนเพื่อความยั่งยืนของโครงการและขยายขอบเขตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    ผู้ตอบแบบสอบถาม 60% ระบุว่าองค์การบริหารระดับเมืองทำหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมของโครงการได้ดีที่สุดโดยการสนับสนุนการวางแผนระยะยาวเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการดังกล่าวจะยังดำเนินการต่อไปได้แม้จะมีผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของและการฝึกอบรมให้มีแกนนำในพื้นที่จะทำโครงการริเริ่มต่างๆ คงอยู่ต่อไปและขยายขอบเขตเกิดผลลัพธ์ที่กว้างขึ้น

คลิ๊กที่รูปภาพเพื่อเข้าถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ Accelerating progress toward the SDGs through city-led initiatives

เมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย
- SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- SDG 17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา: devex

Last Updated on พฤษภาคม 25, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น