เกษตรกรไทยใช้ ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ ช่วยกำจัดแมลงและศัตรูพืชในนาแทนการใช้สารเคมีฆ่าแมลง

เกษตรกรในประเทศไทยบางรายเลี่ยงการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงและศัตรูพืชในนาด้วยการปล่อย ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ ฝูงใหญ่เข้ามาในนาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อควบคุมปริมาณหอยเชอรี่ แมลง และศัตรูพืชไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ตามโคนต้นข้าว พร้อมทั้งช่วยกินเศษข้าวเปลือกและช่วยเหยียบตอซังข้าวในนาให้ราบลง ทำให้ง่ายต่อการไถกลบอีกด้วย

การปลูกข้าวและเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งไปพร้อมกัน เป็นรูปแบบวิถีเกษตรดั้งเดิมในบางพื้นที่ของไทย รายงานข่าวสำนักข่าว Reuters ได้สัมภาษณ์ผู้คุมเป็ด อภิวัฒน์ เฉลิมกลิ่น เจ้าของฟาร์มเป็ดโชคอำนวย จังหวัดนครปฐม ที่เลี้ยงเป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ กว่า 50,000 ตัว ด้วยวิธีผสม คือเลี้ยงแบบไล่ทุ่งผสมกับการเลี้ยงแบบระบบฟาร์ม โดยจะอนุบาลเป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ให้ผ่าน 20 วัน แล้วต้อนไปหากินในที่นาหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรในพื้นที่เป็นเวลาห้าเดือน จากนั้นจึงกลับไปเลี้ยงในโรงเรือนเช่นเดิม วิธีนี้จะช่วยให้ผู้เลี้ยงเป็ดประหยัดค่าอาหาร และยังช่วยลดความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลงของชาวนา นอกจากนั้น มูลเป็ดก็จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้พื้นที่นาเพิ่มด้วย

แม้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีจะช่วยให้แน่ใจได้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลผลิตในปริมาณที่ค่อนข้างแน่นอน แต่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นพิษทั้งในดิน ในแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและต่อมนุษย์เอง

กิจกรรมทางการเกษตรก่อก๊าซเรือนกระจกถึงประมาณ 30% ของปริมาณทั่วโลก โดยมาจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และของเสียจากสัตว์เป็นหลัก ซึ่งปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศมากเกินไปเป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อากาศอุ่นขึ้นจึงมีฤดูเพาะปลูกที่นานขึ้น วัชพืชและแมลงศัตรูพืชจะแพร่ขยายพันธุ์มากขึ้นและไวขึ้น พร้อมกับการทำการเกษตรที่เข้มข้นขึ้น ทำให้แนวโน้มการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรจะเป็นหนทางช่วยลดผลกระทบที่ย้อนกลับมาได้อีกทอดหนึ่ง

นอกจากในประเทศไทยแล้ว การใช้ “เป็ดไล่ทุ่ง” แทนยาฆ่าแมลง เป็นวิธีที่พบในทั้งเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และแม้กระทั่งในอิหร่าน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องภายในปี 2573
#SDG12 รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
- (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

ที่มา :
Unleash the ducks! Thai drought worries threaten farming tradition (Reuters)
เกษตรกรบางเลนเลี้ยงเป็ดไข่แบบง่าย ๆ สร้างรายได้กว่าแสนบาทต่อวัน (เกษตรกรก้าวหน้า)
Greenhouse gas reduction in agriculture (IAEA)
In Thailand, some farmers use ducks instead of pesticides (World Economic Forum)

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น