UNEP และ GEF นำทีมออกโครงการ ‘UrbanShift’ หนุนเมืองให้ปรับตัวเพื่อผู้อาศัย จัดการกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า เกือบ 70% ของประชากรโลกหรือที่ประมาณ 4.2 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง ขณะที่เมืองเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 70% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงความท้าทายอื่น ทั้งมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การขาดแคลนบ้านและแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อหาได้ และการแบ่งแยกภายในสังคมที่ร้าวลึก ทำให้หนทางหนึ่งที่เมืองจะสามารถลดทอนปัญหาเหล่านี้ลงได้คือ ร่วมกันปรับตัวเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั้งหมดของโลกให้ต่ำกว่า 1.5°C ภายในปี 2593

สัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility – GEF) และหุ้นส่วน จึงได้เปิดตัวโครงการ ‘UrbanShift’ สนับสนุน 23 เมืองเป้าหมายทั่วโลก พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวน่าอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ขณะเดียวกับที่ช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ

โครงการ UrbanShift สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 เปลี่ยนแปลงจากฐานรากด้วยแนวทางที่เชื่อมโยงมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ครอบคลุม ปลอดภัย มีความสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน บนแนวคิดการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) ระบบขนส่งสาธารณะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ พื้นที่เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และการจัดการขยะอย่างบูรณาการ

เริ่มแรกจะเน้นให้การสนับสนุน 23 เมืองเป้าหมายในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ได้แก่ เมืองในอาร์เจนตินา บราซิล จีน คอสตาริกา อินเดีย อินโดนีเซีย โมรอคโค รวันดา และเซียร์ราลีโอน โดยจะทำงานร่วมกับนายกเทศมนตรี ภาคเอกชน เครือข่ายของเมือง หน่วยงานใต้สหประชาชาติ ธนาคารการพัฒนาพหุภาคี และหุ้นส่วนอื่น เพื่อสนับสนุนรัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับชาติ พร้อมกับสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนงานวิจัย องค์ความรู้ และประสบการณ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองที่ยั่งยืน
-(11.1) หลักประกันการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียง ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน ภายในปี 2573
-(11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน ภายในปี 2573
-(11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ ภายในปี 2573
-(11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า ภายในปี 2573
-(11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับชาติและระดับภูมิภาค
#SDG13 การจัดการ/รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.3) พัฒนาขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืดบนแผ่นดิน ตลอดจนลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งและความหลากหลายทางชีวภาพ

แหล่งที่มา:
UN and partners launch billion-dollar initiative to transform cities for people and planet (unep.org)

Last Updated on กันยายน 30, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น