ตัวอย่าง 4 เมืองใหญ่ ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว

รายงานด้านการขนส่งและการเดินทางฉบับล่าสุดจาก World Economic Forum ย้ำว่า ความสามารถในการเดินทางเข้า-ออกใจกลางเมืองสามารถสร้างความเท่าเทียมและมีโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม จึงเสนอตัวอย่าง 4 เมืองทั่วโลกที่มีวิธีการทำให้ทุกคนสามารถเดินทางในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น

รายงาน How Mobility Shapes Inclusion and Sustainable Growth in Global Cities’ เป็นความร่วมมือระหว่าง World Economic Forum, Boston Consulting Group และ University of St. Gallen ระบุว่า การมีระบบขนส่งและการเดินทาง (mobility) ที่เข้าถึงได้และครอบคลุมจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเพื่อสร้างความเท่าเทียมและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะประชาชนทุกคนจะสามารถใช้โอกาสที่มีอยู่ที่ใจกลางเมืองในอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ห่างไกลเพียงใด โดยเสนอ 4 วิธีที่ผู้กำหนดนโยบายช่วยให้ผู้คนเดินทางเข้า-ออกจากศูนย์กลางเมืองได้ง่ายขึ้น แม้ไม้มีรถยนต์ส่วนตัว จาก 4 เมือง ดังนี้

01 – ระบบจองตั๋วรถไฟออนไลน์ของเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

การเดินทางด้วยรถไฟเป็นที่นิยมอย่างมากในปักกิ่ง แต่การต่อคิวเพื่อซื้อตั๋วใช้เวลามากถึง 20 นาที ทำให้มีหลายคนเลือกใช้รถส่วนตัวแทน การพัฒนาแพลตฟอร์มการจองตั๋วออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้เดินทางใช้บริการรถไฟได้สะดวกขึ้นเพราะสามารถลดเวลารอซื้อตั๋วได้มากถึง 80% และทำให้คิวในสถานีสั้นลง 40%

02 – บริการรับส่งผู้พิการที่เรียกได้เมื่อต้องการ (on-demand) ในเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทรถ Hyundai เปิดตัวโปรเจ็กต์ EnableLA รถยนต์บริการรับส่งผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ให้เดินทางในเมืองขนาดใหญ่ได้ โดยสามารถจองรถได้ทั้งทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ และทางแอปพลิเคชัน

03 – นโยบาย bike-to-work ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา

นโยบาย Divvy bike-sharing หรือ บริการเช่ารถจักรยานสาธารณะในเมืองได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนทำงานที่มีรายได้น้อย เพราะค่าธรรมเนียมรายปีเพียงแค่ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีจุดจอดอยู่ทั่วเมือง และยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าเสริมที่ช่วยทุ่นแรงปั่นให้สามารถปั่นได้เร็วขึ้นและปั่นขึ้นเนินได้ง่ายขึ้น

04 – แอปพลิเคชันแชร์การเดินทางราคาถูก ในเมืองเบอร์ลิน เยอรมนี

ผู้โดยสารสามารถจองรถล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Berlkönig ซึ่งจะรวมผู้โดยสารที่เดินทางไปทางเดียวกันสูงที่สุดถึงหกคนและแวะรับตามจุดจอดรับต่าง ๆ และยังใช้รถมินิแวนที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถใช้บริการได้ ทำให้ลดการเกิดการจราจรติดขัดและการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย

รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นว่าระบบขนส่งที่คำนึงถึงความยั่งยืน เข้าถึงได้และปลอดภัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำให้ดีขึ้น จะช่วยขับเคลื่อนความหลากหลายและความครอบคลุมของสังคม (diversity and inclusion) เสริมสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
- (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ยั่งยืนและมีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
- (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- (11.2)จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้พัฒนาความปลอดภัยทางถนน ขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

ที่มา : 4 cities making commuting more accessible (World Economic Forum)

Last Updated on ธันวาคม 20, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น