SDG Insights | ทุจริตกัดกินความยั่งยืน

โดย ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC)

“เราจินตนาการถึงโลกที่ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการบรรลุศักยภาพของมนุษย์; โลกที่ยุติธรรม เท่าเทียม เปิดกว้าง และครอบคลุมความต้องการของกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด” 

คำกล่าวข้างต้น คือบางส่วนของวิสัยทัศน์ที่ถูกเขียนไว้ใน Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development เมื่อปี 2558 พร้อมด้วยป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย ที่จะนำพาเราทุกคนไปสู่โลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมในปี 2573 ทว่าเมื่อผ่านไปกว่าครึ่งทางของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผลการสำรวจสถานะความคืบหน้าจากหลายองค์กร เช่น United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) The Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) The Economic and Social Council (ECOSOC) และTransparency International (TI) กลับส่งสัญญาณเร่งด่วนว่า โลกของเรายังห่างไกลจากหนทางที่จะบรรลุความสำเร็จที่ตั้งไว้ ทั้งยังมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ? 


01-ไม่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน หากโลกยังเผชิญกับคอร์รัปชัน

องค์กร Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้เผยแพร่รายงาน Sustainable Development Report 2023 และจัดอันดับ SDGs Index 2023 เพื่อส่งสัญญาณเตือนว่า “แม้เราจะผ่านการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเกินครึ่งทางแล้ว (8 ปี) แต่ปัจจุบันโลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใดเลย” อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะท้าทายมาก (สีแดง) และต้องออกแรงผลักดันกันอย่างหนัก ได้แก่ “SDG2 ขจัดความหิวโหย” “SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” “SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน” “SDG14 ทรัพยากรทางทะเล” “SDG15 ระบบนิเวศบนบก” และ “SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง” เมื่อพิจารณาสถานะของเป้าหมายที่ท้าทายเหล่านี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาคนและสังคม (people) โดยมุ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมในด้านต่าง ๆ ที่รัฐจัดหาให้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม (planet) เพื่อรักษาทรัพยากรของโลกอย่างเหมาะสมและคงอยู่ไปยังรุ่นถัดไป

แต่ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการกำกับดูแล และความรับผิดชอบ (governance and accountability) จากรัฐบาลของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และครอบคลุม แต่เมื่อมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ตราชั่งของความเป็นธรรมจะเริ่มเอนเอียง จนนำไปสู่ “การเบี่ยงเบนทรัพยากรสาธารณะไปจากการให้บริการที่จำเป็น และการบิดเบือนนโยบายของรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ผ่านการใช้ทรัพยากรส่วนรวม” หากปล่อยให้การคอร์รัปชันกัดกินประเทศไปเรื่อย ๆ จะนำไปสู่ “การคอร์รัปชันที่ฝังลึกและเป็นระบบ” (entrenched corruption) ซึ่งเป็นการคอร์รัปชันที่รุนแรงที่สุดและส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในภาครัฐที่ทํากันอย่างเป็นระบบ (corruption systems) ไม่ใช่การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นครั้งคราว โดยมีปัจจัยจากระบบการเมืองที่อ่อนแอ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า สถาบันที่ไม่มีประสิทธิภาพ และภาคประชาสังคมที่ไม่แข็งแรง แม้ว่าจะยังไม่มีการประเมินต้นทุนคอร์รัปชันทั่วโลกที่น่าเชื่อถือ แต่การศึกษาวิจัยคอร์รัปชันจากผู้เชี่ยวชาญได้ให้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เพียงพอว่าการคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุน ตลอดจนความเข้มแข็งของสถาบันหลัก และระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประเทศได้รับจากการคอร์รัปชัน ด้วยเหตุนี้ ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 จึงได้เน้นย้ำให้แต่ละประเทศเร่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน

ผลการสำรวจคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI ประจำปี 2022 ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันกับรายงาน SDGs Index 2023 ว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ยังคงล้มเหลวในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ประเทศกว่า 95% ไม่มีความคืบหน้าเลยนับตั้งแต่ปี 2560ซึ่งส่งผลต่อความก้าวหน้าในการบรรลุ SDGs ทั้งหมด โดยเฉพาะเป้าหมาย SDG16 เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของกลุ่มประเทศเหล่านี้ พบว่า มีปัจจัยร่วมกัน คือเรื่องของความรุนแรงและความขัดแย้ง (SDG16) ยิ่งประเทศที่มีความขัดแย้งสูง ยิ่งมีแนวโน้มจะเกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย ยกตัวอย่าง ประเทศ Guatemala (24 คะแนน) และ Mozambique (26 คะแนน) ที่ติดหนึ่งในประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันที่รุนแรงมาเป็นระยะเวลานาน และยังเป็นประเทศที่มีระดับสันติภาพต่ำจากการ สำรวจดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) มาโดยตลอด ซึ่งจากงานศึกษาการคอร์รัปชัน ชี้ว่าลักษณะของประเทศเหล่านี้ จัดอยู่ในประเภทรัฐทุจริตที่เรียกว่า “รัฐที่ถูกครอบงำโดยมาเฟีย” (Mafia-Dominated States) หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ร่วมมือกับนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงในการคอร์รัปชัน ผ่านการใช้อิทธิพลเหนือรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตน เช่น การคอร์รัปชันในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน 

หากลองเทียบเคียงผลประเมินความก้าวหน้าของ 2 ดัชนี คือ SDG Index 2023” ที่จัดอันดับประเทศที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs 10 อันดับแรก ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เช็ก โปแลนด์ และเอสโตเนีย และ “Corruption Perceptions Index (CPI)” ที่จัดอันดับประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันต่ำที่สุด ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สิงค์โปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก จะเห็นว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้ มีเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มั่นคง และมีความก้าวหน้าค่อนข้างสูงในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะ SDG16 ที่ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะยังคงมีความท้าทายบางส่วน (สีเหลือง) แต่ก็มีแนวโน้มก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ผลการจัดอันดับข้างต้น ทำให้เราพอเห็นภาพคร่าว ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันต่ำ กับความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ซึ่งมีความน่าสนใจที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อไป 


02-คอร์รัปชัน กัดกินความยั่งยืน 

เพื่อฉายภาพผลกระทบของการคอร์รัปชันที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขออ้างถึงการศึกษาของ Transparency International (TI) ปี 2019 ที่ทำการศึกษากลุ่มประเทศที่อยู่ในสถานะวิกฤติต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้แก่ กัวเตมาลา โมซัมบิก และมัลฟ์ดีฟ จากกรณีศึกษา พบว่า อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือระดับการคอร์รัปชันที่รุนแรงมากในภาคสุขภาพ ภาคการศึกษา และการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีมูลค่าต่อครั้งสูง โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง คือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่กำกับดูแลการพัฒนาเป้าหมาย SDGs ได้ทำการ “ยักยอกเงินสาธารณะ” เช่น การยักยอกเงินกู้จากกองทุนสนับสนุนประมงรายย่อย และกองทุนความมั่นคงทางทะเลในโมซัมบิก ทำให้ประเทศขาดเงินสนับสนุนจากกองทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อการช่วยเหลือกลุ่มประมงพื้นบ้านให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มผลผลิต (เป้าหมายย่อยที่ 2.3) รวมถึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร (เป้าหมายย่อยที่ 2.4) เพราะกลุ่มประมงพื้นบ้านมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 

หรือกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขในกัวเตมาลา นำงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก มาจัดจ้างในโครงการเพื่อเรียกรับสินบน ทำให้หน่วยงานไม่สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น และอุปกรณ์ทำคลอดที่เพียงพอได้ (เป้าหมายย่อยที่ 3.8) จนเกิดการเรียกสินบนในการทำคลอด นำไปสู่อัตราการตายในระหว่างการคลอดลูกที่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า (เป้าหมายย่อยที่ 3.1 และ 3.2) นอกจากนี้ยังพบการ “ใช้อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่บิดเบือนนโยบายของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” ผ่านการใช้ทรัพยากรส่วนรวม เช่น เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเรียกรับค่าตอบแทนส่วนเกินจากค่าเช่าพื้นที่เกาะในมัลฟ์ดีฟ ผ่านการทำข้อตกลงที่ผิดกฎหมาย ทำให้มัลฟ์ดีฟสูญเสียเงินมากกว่า 2 ใน 3 ของงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับคุ้มครองสายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ (เป้าหมายย่อยที่ 15.9) และการเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ (เป้าหมายย่อยที่ 14.7) 

นอกจากผลกระทบข้างต้นแล้ว รายงานของ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ได้ระบุว่าในทุกวัน ผู้คนนับล้านทั่วทุกภูมิภาคของโลกต้องจ่ายสินบนเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็น เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา น้ำ ไฟฟ้า หรือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดสินบนมากที่สุด โดยอัตราความชุกของการติดสินบนโดยเฉลี่ยในประเทศที่มีรายได้น้อยอยู่ที่ 37.6% ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงมีอัตราการติดสินบนโดยเฉลี่ย 7.2% จึงสะท้อนได้ว่า ผลกระทบของการคอร์รัปชันนั้นจะตกไปอยู่กับคนที่ยากลำบากที่สุดในสังคม 

เมื่อเราเข้าใจผลกระทบของการคอร์รัปชันที่ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เราจะตระหนักได้ชัดเจนว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศต่าง ๆ จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ (SDGs) หากยังคงปล่อยให้คอร์รัปชันแพร่ระบาดอยู่ในสังคม หากไม่มีการกำกับและตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ การฉกฉวยผลประโยชน์จากงบประมาณก็จะเกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุม ซึ่งส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ในท้ายที่สุด ประชาชนจะถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ เช่น สิทธิในการศึกษา สุขภาพ มาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และในบางกรณีอาจหมายรวมถึงสิทธิในการมีชีวิต


03- 5 ปีผ่านไป คอร์รัปชันของไทย ก็ยังไม่ดีขึ้น 

สถานการณ์คอร์รัปชันใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) เราแย่ลงอย่างต่อเนื่อง หากวัดจากมาตรฐานสากลที่ใช้ประเมินระดับการคอร์รัปชันทั่วโลก คือ Corruption Perceptions Index (CPI) ไทยได้คะแนนอยู่ที่ 35-36 คะแนนมาโดยตลอด (จากคะแนนเต็ม 100) ในขณะที่ Global Corruption Barometer (GCB) ปี 2020  ก็ระบุว่า ไทยอยู่อันดับที่ 5 จาก 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความรุนแรงของการจ่ายสินบนสูงมาก สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นโดย SDG Move ปี 2023 ที่พบว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่า “ปัญหาการทุจริตและการติดสินบน” เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ส่งผลต่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ SDG Index ปี 2565 ที่พบว่าไทยมีความท้าทายอย่างมากในการบรรลุเป้าหมาย SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) และระบุว่าการคอร์รัปชันในรัฐบาลเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ต้องเร่งแก้ไข

ดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทย

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากแหล่งข้อมูลของ Corruption Perceptions Index (CPI) จะเห็นว่าในตัวชี้วัดกว่าครึ่งของไทยก็ยังคงที่ โดยเฉพาะตัวชี้วัด 4 ตัว ที่ประเมินประสิทธิภาพในการควบคุมการคอร์รัปชันในระดับรัฐบาล ที่ไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด ได้แก่ (1) World Justice Project (WJP) ที่เคยได้รับ 40 คะแนนในปี 2561 ลดมาเป็น 38 คะแนนในปี 2562 และในปี 2565 ได้ 34 คะแนน แสดงให้เห็นว่ามุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ต่อหลักนิติธรรมในไทย ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และมีทิศทางที่แย่ลงเรื่อย ๆ (2) Political and Economic Asia Risk Guide (PERC) ที่เคยได้รับ 37 คะแนนในปี 2561 ลดลงมาเรื่อย ๆ จนถึง 35 คะแนนในปี 2565 แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในไทย ยังคงเห็นว่าการคอร์รัปชันในภาคธุรกิจของไทยมีความรุนแรงอยู่มาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย (3) Bertelsmann Foundation Transformation Index (BTI) โดยได้รับ 37 คะแนน มาตั้งแต่ปี 2561 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันของไทย และการดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีปัญหาอยู่มาก และ (4) Economist Intelligence Unit Country Ratings (EIU) โดยได้รับ 37 คะแนน มาตั้งแต่ปี 2561 แสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสของการจัดการบริหารงบประมาณ การแต่งตั้งข้าราชการของรัฐ และการตรวจสอบงบประมาณโดยหน่วยงานอิสระของไทยยังมีปัญหาอยู่มากเช่นกัน  

ผลจากดัชนีเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล และการเรียกสินบนในกระบวนการทำธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในภาครัฐ ทั้งระหว่างภาครัฐกับเอกชน และภายในหน่วยงานภาครัฐเอง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 เนื่องจาก Corruption Perceptions Index (CPI) เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินความก้าวหน้าของตัวชี้วัดย่อยที่ 16.5.1 (สัดส่วนของบุคคลที่มีการให้สินบน หรือถูกเรียกสินบนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และตัวชี้วัดย่อยที่ 16.5.2 (สัดส่วนขององค์กรธุรกิจที่มีการให้สินบน หรือถูกเรียกสินบนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ) 

นอกจากดัชนีดังกล่าวแล้ว ผลการสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index) ยังชี้ให้เห็นว่า คนไทยมองความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชันในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สูงสุดในรอบ 3 ปี (เพิ่มขึ้นถึง 37 %) โดยสาเหตุที่คอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างมาก มาจากกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจสูง กระบวนการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก ตลอดจนการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับรูปแบบการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นนั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ “การให้สินบน” “การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง” “การทุจริตเชิงนโยบาย” “การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” และ “การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์ในภายหลัง” 

ยกตัวอย่าง การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับทหารชั้นสูง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจของพวกพ้อง กรณี คสช. ออกคำสั่งที่ 75/2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ส่งผลให้มีจำนวนทหารที่นั่งเป็นประธานในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกกฎเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครอง เช่น การใช้มาตรา 44 (บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557) ในการบริหารงานของรัฐ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการตรวจสอบอำนาจรัฐขององค์กรอิสระ และภาคประชาชน รวมถึงในปัจจุบัน จะเห็นว่าการคอร์รัปชันเริ่มมีการกระจายตัวออกอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ออมทรัพย์ วัด และสถาบันการศึกษา ดังที่เห็นจากหลากหลายกรณี เช่น คดีฉ้อโกงงบโรงเรียนพระปริยัติธรรม คดีฉ้อโกงสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และหลายกรณีที่มีบุคลากรใช้ชื่อหน่วยงานรับงานบริการวิชาการให้กับบริษัทเอกชนอย่างบิดเบือนแลกกับผลประโยชน์ ซึ่งกรณีเหล่านี้ สะท้อนปัญหาโครงสร้างของระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม-การเมืองไทย

ขณะที่การต่อต้านคอร์รัปชันนั้น ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าปัจจัยถดถอยของการต่อต้านคอร์รัปชันที่สำคัญ คือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ และการใช้อำนาจของภาครัฐ โดยเฉพาะหากเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของทหาร หรือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลใกล้ชิด แม้ว่าจะมีแนวปฏิบัติจาก พ.ร.บ. ข้อมูลลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมถึงกลไกการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก็ตาม แต่แนวโน้มของข้อมูลเหล่านี้จะถูกปิดกั้นการเข้าถึงมากขึ้น จากการออกกฎหมายอื่นมาปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน เช่น พ.ร.บ. ความลับของทางราชการ และ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล กลายเป็นปัจจัยทำให้การตรวจสอบภาครัฐทำได้ยากขึ้น และนั่นหมายความว่า สถานการณ์คอร์รัปชันของไทย จะยังคงมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อย ๆ และไม่มีทางที่ไทยจะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้


04-จะพลิกเกมแก้คอร์รัปชันอย่างไร ให้ทันเส้นชัยในปี 2573 

Transparency International ระบุว่าเกือบ 90 % ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่มีความคืบหน้าที่จริงจังในการลดระดับการคอร์รัปชันนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เนื่องจากยังขาดความโปร่งใส ขาดสถาบันกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อีกทั้ง รายงานจาก The Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) ก็ส่งสัญญาณเตือนว่า ประเทศเหล่านี้มีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพียง 14.4 % เท่านั้น นั่นแปลว่า เราอาจต้องใช้เวลากว่า 42 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งหมด

ดังนั้น หากจะพลิกเกมแก้คอร์รัปชันให้ทัน อาจจะต้องเริ่มจากพลิกวิธีคิด…ถ้าสังเกตรูปแบบของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าทั้งหมดเกี่ยวพันกับ “การผูกขาด การใช้ดุลพินิจ และการขาดกลไกความรับผิดชอบ” ดังนั้น หากต้องการลดคอร์รัปชัน นั่นหมายความว่า เราต้อง “เพิ่มความโปร่งใส” ในกระบวนการทำงานของรัฐทั้งหมด เราต้อง “เพิ่มอำนาจประชาชน” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและแจ้งเบาะแสการทุจริต และสุดท้าย เราต้อง “สร้างสังคมที่เอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชันในระยะยาวด้วย” เพื่อเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในการลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของข้าราชการและนักการเมือง ลดอำนาจผูกขาดทั้งทางการเมืองและธุรกิจ และสร้างกลไกความรับผิดรับชอบของผู้มีอำนาจรัฐให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

ซึ่งรากฐานของการเพิ่มความโปร่งใส เพิ่มอำนาจประชาชน และสร้างสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน ล้วนปรากฏอยู่ในเป้าหมายย่อยภายใต้ SDG ที่ 16 ทั้งหมด ได้แก่ “ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และสินบน (SDG16.5)” “เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดการ (SDG16.6)” “จัดการกับกระแสการเงินที่ผิดกฎหมาย (SDG16.4)” และ “ปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน (SDG16.10)” เพราะการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันต้องอาศัยการมีสถาบันที่เข้มแข็ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ การมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีกลไกภาคประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ดังนั้น หากจะลดการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จะมุ่งไปที่การลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และสินบน (SDG16.5) เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องขับเคลื่อนเป้าประสงค์ข้ออื่นไปพร้อม ๆ กัน เพราะหากเปรียบคอร์รัปชันเป็นเหมือนเชื้อโรค สิ่งที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ คือแสงสว่างและความสะอาดโปร่งใส แต่ประเทศไทยยังขาดสิ่งนี้ ทำให้ผู้ที่หลบในมุมมืด โกงกินได้ต่อเนื่อง ทั้งยังแพร่กระจายไปในทุกวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชน การจะให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไล่จับทั้งหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้ ซึ่งภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่คำถามคือ เราได้ให้ข้อมูลหรือเครื่องมือกับสังคมเพียงพอหรือยัง เพราะเมื่อไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้

เช่น ถ้าเราไม่รู้ว่า เสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรีนั้นราคาต้นละแสนบาท เราก็คงจะไม่ได้เห็นกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในสังคมไทยในปีที่ผ่านมา หากประชาชนในพื้นที่ไม่ร่วมกันค้นหาข้อมูลการบิดเบือนสัญญา และเส้นทางการเงินที่คดโกง เราคงจะไม่เห็นการตัดสินลงโทษนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลหลายคนในคดีทุจริตโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ดังนั้น การเริ่มจาก“การสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูล” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะประชาชนจะต้องรู้ก่อนว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร และใช้เงินไปเท่าไร ไม่เช่นนั้นเเม้ประชาชนอยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันมากแค่ไหน ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ปัญหาได้อย่างไร และถ้าประชาชนรับรู้ข้อมูลมากขึ้น “การเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบก็เพิ่มขึ้น” นำไปสู่การแจ้งเบาะแสผู้ที่ทุจริต หรือการปฎิเสธไม่ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะทำให้ “การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในทางที่ผิดลดลงได้ จากกระบวนการติดตาม และตรวจสอบการคอร์รัปชันในสังคมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการเข้าถึงข้อมูล

ถัดมา คือพลิกวิธีแก้ หากดูตัวอย่าง วิธีการ หรือเครื่องมือแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (grand corruption) ของประเทศต่าง ๆ ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ จะพบว่าคำตอบอยู่ที่ “การนำข้อมูลไปติดอาวุธให้ประชาชน” โดยมีตัวอย่างของประเทศใกล้บ้านเรา เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่นอกจากจะเปิดเผยข้อมูลภาครัฐแล้ว ยังมีช่องทางให้ประชาชนนำเสนอความเห็น ร้องเรียนปัญหา และติดตามความคืบหน้าในแก้ไขปัญหาได้ด้วย ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ Transparency International ที่ระบุว่า “ความโปร่งใสต่อสาธารณะ” เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน จึงแนะนำให้ประเทศที่เผชิญกับปัญหาการคอร์รัปชัน เร่งสร้างกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีความยั่งยืนตั้งแต่วันนี้ ด้วยการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้คนจำนวนมากเข้ามาร่วมตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพรองรับการมีส่วนร่วมตรวจสอบการคอร์รัปชัน เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้ที่กระทำผิดได้จริง ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ถูกพิสูจน์แล้วในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และล่าสุด คือเวียดนามที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการต่อต้านคอร์รัปชัน

จากการพลิกวิธีคิด และพลิกวิธีแก้ข้างต้น จึงนำมาสู่แนวทางการลดคอร์รัปชันด้วยการวางรากฐานสำคัญ คือการมีสถาบันที่เข้มแข็ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ การมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน และการมีกลไกภาคประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อวางรากฐานของกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันของไทยอย่างเป็นระบบ 


05-สร้างระบบนิเวศของการต่อต้านคอร์รัปชันด้วย “OPPA” (Open Data + Participation + Accountability) 

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่ได้เน้นการใช้อำนาจรัฐปราบปราม ตั้งองค์กรอิสระ หรือใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียว แต่เขาสร้างระบบนิเวศของการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านกระบวนการที่มีความยั่งยืนร่วมด้วย ซึ่งระบบที่ว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้เเก่ “การเปิดเผยข้อมูล (Open Data)” “การสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation)” และ “การสร้างกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ (Accountability)” ดังนั้น กระบวนการนี้จึงมีความน่าสนใจที่ประเทศไทยจะต้องขึ้นรถไฟขบวนนี้ไปให้ทัน เพื่อไปสู่เส้นชัยในปี 2573 โดยจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า “OPPA โมเดล”

01 – “OP” for Open Data

เทรนด์แรก คือ OP มาจาก Open Data หรือการเปิดข้อมูล เป็นการติดอาวุธให้ประชาชนที่พร้อมร่วมต่อต้านคอร์รัปชันแล้วด้วยข้อมูล เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณต่าง ๆ ได้ และยังช่วยให้การทำงานของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยงของโครงการต่าง ๆ และนำไปสู่การป้องกันการคอร์รัปชันได้ตั้งแต่ต้นทาง ตัวอย่างประเทศที่มีการเปิดข้อมูลรัฐทั้งหมดอย่างเป็นมาตรฐานตามหลักการ Open Data Charter เช่น อังกฤษ โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่เปิดข้อมูลการทำงานของรัฐบาล นักการเมือง และการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก 

ผลของการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้จริง และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประสิทธิภาพของภาครัฐ ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ความรับผิดชอบของรัฐบาลดีขึ้น มีการปรับปรุงบริการสาธารณะที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากความโปร่งใสในการทำธุรกิจที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อความก้าวหน้าของเป้าหมายย่อยที่ 16.10 (สร้างหลักประกันการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน) เพราะมันจะนำไปสู่การปรับปรุง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการในการส่งเสริมสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้เกิดการเปิดข้อมูลที่ง่ายต่อการเข้าถึง ครอบคลุมชุดข้อมูลต่าง ๆ และครอบคลุมช่วงเวลาย้อนหลัง ตอบสนองต่อการใช้งานของประชาชนในทุกรูปแบบโดยไม่มีเงื่อนไข บนพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐตามมาตรฐานสากล 

ส่วนในไทยเองก็มีเครื่องมือจากภาครัฐอยู่บ้าง เช่น ภาษีไปไหน โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และจากภาคประชาชนเช่น ACT Ai โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่นำไปสู่การเปิดโปงกรณีดัง ๆ เช่น เสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรีที่มาจากการเข้าไปดูข้อมูลจัดซื้อเสาไฟฟ้าโดย ACT Ai และเห็นว่าแพงผิดปกติ เลยนำเรื่องไปร้องเรียนจนเกิดเป็นกระแสสังคม นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราเห็น อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลในไทยยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก หน่วยงานรัฐหลายแห่งยังหวงข้อมูล เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความโปร่งใสในสังคม แต่ข้อมูลชุดสำคัญที่หน่วยงานถืออยู่เช่น ข้อมูลทรัพย์สินนักการเมือง กลับเปิดเผยเพียง 180 วันแล้วปิดระบบเลย รวมถึงปิดไม่ให้บันทึกข้อมูลด้วย ถ้าอยากเก็บข้อมูลไว้ ต้องไปถ่ายรูปหน้าจอคอมพิวเตอร์ทีละภาพ ซึ่งเป็นต้นทุนมหาศาลของประชาชนที่อยากเข้าถึงข้อมูลในการมีส่วนร่วมตรวจสอบ

02 – ‘P’ for Participation

เทรนด์ที่สองคือ P มาจาก Participation หรือการสร้างความร่วมมือจากประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งมีความต่อเนื่องมากจากกระบวนการแรก เพราะเมื่อเปิดเผยข้อมูลแล้ว ต้องนำข้อมูลมาประมวลผลให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และต้องผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ให้ได้ด้วย ยกตัวอย่างประเทศใกล้บ้านเรา เช่น อินโดนีเซีย พัฒนาระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงของการคอร์รัปชันให้เห็นเป็นคะแนน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหาได้ นอกจากนี้ ระบบที่ดี ต้องไม่มีเพียงแค่ให้ข้อมูลไปไล่จับคนทุจริตเท่านั้น แต่ต้องป้องกันได้ตั้งแต่ต้นด้วย เช่นเมือง Porto Alegre ประเทศบราซิลที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบงบประมาณเอง หรือที่เรียกว่า “Participatory Budgeting” ทำให้สวัสดิภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้นอย่างมาก รวมถึงตัวอย่างของเกาหลีใต้ ที่ใช้ Open Data เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมด้วยการเปิดให้ประชาชนเข้ามาเสนอความเห็น หรือโครงการกับภาครัฐ จนทำให้เกิดการผลักดันข้อมูลจากประชาชนไปสู่นโยบายได้ถึง 111 ประเด็น 

ผลกระทบของการสร้างความมีส่วนร่วมด้วยการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ช่วยให้อำนาจแก่ประชาชนในการเรียกร้องให้ภาครัฐรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ และกระตุ้นให้เกิดการติดตามและตรวจสอบความเสี่ยงในโครงการของภาคัฐ อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบในประเด็นทางการเมือง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ การใช้จ่ายเงินงบประมาณ กฎระเบียบ และกระบวนการตัดสินใจในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน 

ส่วนในไทยเองก็มีความพยายามของภาคประชาชนในการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้อยู่บ้าง เช่น ผ่างบเมือง โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ชวนประชาชนตรวจสอบงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่าถูกใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรบ้าง และ Bangkok Budgeting โดย Punch Up และ WeVis ที่ชวนตรวจสอบงบประมาณของกรุงเทพฯ และมีส่วนร่วมทดลองออกแบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากข้อมูลลักษณะนี้ยังมีอุปสรรคอยู่ที่ภาครัฐที่ยังไม่เปิดข้อมูล อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ความมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบจึงเป็นไปได้ยาก

03 – ‘A’ for Accountability

เทรนด์สุดท้าย คือ A มาจาก Accountability หรือความรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่อยากให้เกิดขึ้นกับระบบการต่อต้านคอร์รัปชันที่ดี เพราะจะทำให้การทุจริตเกิดได้ยากขึ้น ในขณะเดียวกันคนที่ทำดีก็จะมีความก้าวหน้าในระบบนี้ด้วย ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลจึงมักกระโดดมาที่การสร้างความรับผิดรับชอบเลย ด้วยการใช้อำนาจรัฐปราบปราม บังคับใช้กฎหมาย โดยไม่สร้างการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และความเข้มแข็งของกลไกตรวจสอบเอาผิดอย่างเป็นระบบเสียก่อน เพราะตามหลักการแล้วการปราบปรามการคอร์รัปชันที่ได้ผลระยะยาว จะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความโปร่งใสของภาครัฐเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ เช่น  การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาสังเกตการณ์และร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ กระบวนการข้อสุดท้าย จึงเกิดได้ยาก และในบางกรณีการปราบปรามนั้นอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้วย ดังเช่นกรณีของเวียดนามที่มีการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างรุนแรงในรัฐบาลเหงียน ฝู จ่อง (Nguyen Phu Trong) ซึ่งถูกครหาว่าเป็นการกวาดล้างฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามพรรคไม่ให้กลับมามีอำนาจ และมีการจำกัดเสรีภาพของสื่อในการวิพากษ์รัฐบาล และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมเปิดโปงการทุจริต ซึ่งขัดแย้งกับหลักการมีส่วนร่วม และความรับผิดชอบ  

ตัวอย่างประเทศที่มีกลไกความรับผิดชอบของภาครัฐ และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการต่อต้านคอร์รัปชันได้จริง คือประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ออกแบบกลไกที่น่าสนใจไว้ 3 ด้าน ได้แก่ (1) สร้างพื้นที่และการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของพลเมือง (2) แก้ปัญหาคอร์รัปชันเชิงรุก และ (3) ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้าถึงได้ทุกคน โดยมุ่งเน้นทั้งการสร้างความโปร่งใส่และความรับผิดชอบของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ (citizen participatory budgeting) ทั้งงบประเทศและงบท้องถิ่น หรือการสนับสนุนข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อใช้กำหนดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการทำงานที่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่ใช้กลไกของการเปิดข้อมูล (Open Data) เป็นตัวตั้งต้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมติดตามข้อมูลก่อน แล้วจึงริเริ่มพัฒนาเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลเปิดอย่างมีส่วนร่วมและปลอดภัย จนนำไปสู่การพัฒนาสถาบันตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจในพื้นที่ให้มีความแข็งแรงขึ้นในการปราบปรามการคอร์รัปชัน และสร้างความไว้วางใจของประชาชน


06-ยก “OPPA” มาไว้ที่ไทย เริ่มจากเรื่องไหนก่อนดี 

จาก “OPPA โมเดล” ทั้งสามข้อนี้ นอกจากจะช่วยให้ประเทศไทยสร้างระบบนิเวศของการป้องกันการคอร์รัปชันแล้ว ยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้ออื่น ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จได้ในคราวเดียวกันโดยไม่ทิ้งประเด็นสำคัญ หรือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชันไว้ข้างหลัง เพราะเราได้เห็นผลกระทบอันมหาศาลของการคอร์รัปชันอย่างชัดเจนแล้วว่า ต่อให้เราอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้เพราะคอร์รัปชัน อยากรักษาป่าก็ทำได้ยากเพราะงบประมาณรั่วไหลไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือแม้แต่สวัสดิการของรัฐก็ไม่ถึงมือประชาชนจริง ๆ สาเหตุก็มาจากการคอร์รัปชันทั้งสิ้น และที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่ายดายในประเทศนี้ อาจเพราะระบบที่เรามีอยู่ยังไม่ดีพอที่จะตรวจสอบการคอร์รัปชันได้อย่างทันท่วงที 

จึงนำมาสู่ Quick Win ที่เสนอให้ภาครัฐทำโดยเร่งด่วน คือสร้างวางรากฐานของกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจาก “การวางรากฐานชุดข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน” (Open Data) ซึ่งไม่ต้องทำอะไรใหม่ และสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันนี้ เพราะภาครัฐมีข้อมูลในมืออยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้เป็นไปตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสากลในรูปแบบดิจิทัลที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (Machine-readable) เนื่องจากชุดข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการประเมินความเสี่ยงการคอร์รัปชัน ที่จะนำไปสู่การเฝ้าระวังโครงการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที เช่น ข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลพรรคการเมือง และข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น 

ซึ่งปัจจุบัน ก็มีความพยายามขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม พัฒนาฐานข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT Ai Open Data Center เพื่อรวบรวมชุดข้อมูลสาธารณะที่ส่งเสริมความโปร่งใส มาเปิดเผยให้ทุกภาคส่วนเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลนี้ได้โดยสะดวกตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสากล โดยปัจจุบันมีชุดข้อมูลเปิดที่พร้อมใช้งานแล้วจำนวน 12 ชุดข้อมูล แต่จากการศึกษาวิจัยโดยบริษัท แฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พบว่ายังมีข้อมูลสำคัญ 25 ชุดข้อมูลที่ควรเปิด ซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลข้อมูลเหล่านี้ จำนวน 27 หน่วยงาน หากทุกหน่วยงานสามารถเปิดข้อมูล และเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ จะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างนวัตกรรมป้องกันการคอร์รัปชันที่เกิดจากชุดข้อมูลนี้ ซึ่งจะพลิกเกมการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของไทยได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 จำเป็นต้องพลิกวิธีคิด และวิธีแก้ปัญหาคอร์รัปชันเสียใหม่ ผ่านการสร้างระบบการป้องกันการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพดีด้วยการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) การสร้างความร่วมมือจากประชาชนอย่างทั่วถึง (Participation) และการเพิ่มกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ (Accountability) อันจะนำไปสู่โอกาสในการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชันในระยะยาว ด้วยการเพิ่มอำนาจประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล เพิ่มพลังในการมีส่วนร่วมตรวจสอบการคอร์รัปชัน และเพิ่มความรับผิดชอบของภาครัฐด้วยการบริหารจัดการที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วจากความสำเร็จในหลายประเทศว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันการคอร์รัปชันได้ในระยะยาว เพื่อให้เราทุกคนสามารถส่งมอบโลกที่ยุติธรรม เท่าเทียม เปิดกว้าง และครอบคลุมความต้องการของกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยไม่ต้องใช้เวลานานถึง 42 ปี 

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
CPI เผยดัชนีการรับรู้การทุจริตประจําปี 2565 พบไทยคะแนนดีขึ้น 1 คะแนน รั้งอันดับ 101 ของโลก แต่
สถานการณ์ทุจริตในประเทศยังน่ากังวล

ทุจริตคอร์รัปชัน’ เอื้อให้การลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ทําได้สะดวกขึ้นในเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้

SDG Updates | 10 อันดับ ความไม่ยั่งยืนผ่านการสํารวจการรับรู้ Thailand’s Unsustainable Development Review –พบเกินครึ่งเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ SDG 16
SDG Updates | SDG Index 2023 สถานการณ์โลก –อาเซียน – ไทยหลังผ่านมาครึ่งทาง
ความพยายามขจัดการค้ามนุษย์ของไทยตกระดับมาที่ Tier 2 Watch List โดยที่ ‘การทุจริต’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสกัดพัฒนาการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.5) ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสําคัญ
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
เนตรธิดาร์ บุนนาค. (2564). เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022. SDG MOVE. https://www.sdgmove.com/2022/06/02/sdg-updates-sustainable-development-report-sdg-index-2022/
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์. (2560). สามปีรัฐประหาร: ทหารตบเท้านั่งรัฐวิสาหกิจบนสัญญาปฏิรูป. สำนักข่าวบีบีซีนิวส์. https://www.bbc.com/thai/thailand-40121632
พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ (บ.ก.). (2560). สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย.
(พิมพ์ครั้งที่ 2). สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI).
มานะ นิมิตรมงคล. (2564). 5 ปีรัฐประหาร – 5 ปีปราบโกง ในสายตา ‘มานะ นิมิตรมงคล’. องค์กรต่อต้าน
คอร์รัปชัน (ประเทศไทย).
https://shorturl.asia/6zZHW
มานะ นิมิตรมงคล. (2565). สถานการณ์คอร์รัปชันไทย ปี 2565 ดีขึ้นหรือแย่ลง?. สำนักข่าวอิศรา. https://www.isranews.org/article/isranews-article/114201-inves09-20.html
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. (2561). ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย – Corruption Situation Index : CSI. http://cebf.utcc.ac.th/upload/index_file/file_th_289d15y2018.pdf
Belford, B; & Rasheed, Z. (2018). How Paradise Was Carved Up And Sold.   https://www.occrp.org/en/paradiseleased/how-paradise-was-carved-up-and-sold
Cortez, E.; Orre, A.; Fael, B.; Nhamirre, B.; Banze, C.; Mapisse, I.; Harnack, K & Reite, T. (2021). Costs and consequences of the hidden debt scandal of Mozambique. https://www.cipmoz.org/wp-content/uploads/2021/05/Costs-and-consequences-of-the- Hidden-Debt.pdf
HAND Social Enterprise. (2021). เครื่องมือต้านคอร์รัปชันจากทั่วโลก. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.2546608588979207&type=3&mibextid=ncKXMA
Jackson, D. (2022). When corruption is entrenched and systemic, more resilient anti-corruption can help. https://www.u4.no/blog/corruption-entrenched-systemic-resilient-anti-corruption-can-help
Jenkins, M.  (2021). Tracking Corruption Across the Sustainable Development Goals.  Transparency International. https://www.transparency.org/en/blog/tracking-corruption-across-the-sustainable-development-goals.  
Jenkins, M.; Chêne, M.; Laberge, M.; & Loekman, I. (2018). Using Governance Data to Fight Corruption Across the SDGs: Handbook for E-learning Course.  Transparency International. https://knowledgehub.transparency.org/product/using-governance-data-to-fight-corruption-across-the-sdgs-handbook-for-e-learning-course.  (Accessed November 25, 2022).
Johnson, S. (2018). Corruption is costing the global economy $3.6 trillion dollars every year.
World Economic ForumBig Think. https://www.weforum.org/agenda/2018/12/the-global-
  economy-loses-3-6-trillion-to-corruption-each-year-says-u-n

Johnston, M. (1998). What can be done about entrenched corruption? Annual world bank conference on development economics 1997, 69-90.               
Nguyen Khac Giang. (2023). Vietnam’s Anti-corruption Campaign: Economic and Political Impacts. https://www.iseas.edu.sg/wpcontent/uploads/2023/04/ISEAS_Perspective_2023_41.pdf
Open Data Charter. (2015). International Open Data Charter. Open Data Charter. https://opendatacharter.net/wp-content/uploads/2015/10/opendatacharter-charter_F.pdf
Open Data Charter. (2018). Open Up Guide: Using Open Data to Combat Corruption. https://open-data-charter.gitbook.io/open-up-guide-using-open-data-to-combat-corruption/
Open Government Partnership. (2021). Independent Reporting Mechanism (IRM): South Korea Transitional Results Report 2018–2020. https://www.opengovpartnership.org/wp-content/uploads/2021/09/South-Korea_Transitional-Results-Report_2018-2020_EN_for-public-comments.pdf
Prime Minister’s Office. (2020). Voluntary National Review 2020 FINLAND: Report on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development. https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/26261VNR_Report_Finland_2020.pdf
Sachs D, J., Lafortune, G., Fuller G. & Drumm E. (2023). Sustainable Development Report 2023. report-2023.pdf
Serra, D. (2012). Combining Top-Down and Bottom-Up Accountability: Evidence from a Bribery Experiment. The Journal of Law, Economics, and Organization, 28(3), 569–587.
Shipley, T. (2019a). Putting a country’s health at risk:high-level corruption in Guatemala. Grand-Corruption-and-the-SDGs_Guatemala_FINAL.pdf
Shipley, T. (2019b). The visible costs of Mozambique’s hidden debts scandal. Grand-Corruption-and-the-SDGs_Guatemala_FINAL.pdf
Shipley, T. (2019c). Selling the country’s future: the island sales scheme in the Maldives. Grand-Corruption-and-the-SDGs_Maldives_FINAL.pdf
Sirilurt, P. (2023). 10 อันดับ ความไม่ยั่งยืนผ่านการสำรวจการรับรู้ Thailand’s Unsustainable Development Review – พบเกินครึ่งเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ SDG 16. SDG MOVE. https://www.sdgmove.com/2023/04/05/sdg-updates-midtermreview-tudr-survey-2023/
The Economic and Social Council. (2023). Progress towards the Sustainable Development Goals: Towards a Rescue Plan for People and Planet.
https://hlpf.un.org/sites/default/files/202304/SDG%20Progress%20Report%20Special%20Edition.pdf
The Sustainable Development Report. (2023). Rankings: The overall performance of all 193 UN Member States. https://dashboards.sdgindex.org/rankings
The Sustainable Development Report. (2023). The Sustainable Development Report 2023. sustainable-development-report-2023.pdf
Transparency International. (2020). Global Corruption Barometer Asia 2020 – Citizens’ Views and Experiences of Corruption. https://images.transparencycdn.org/images/GCB_Asia_2020_Report_Web_final.pdf
Transparency International. (2022). 9 countries to watch on the 2021 Corruption Perceptions Index. https://www.transparency.org/en/blog/cpi-2021-corruption-watch-list-australia-austria-el-salvador-kazakhstan
Transparency International. (2023a). CPI 2022 Report.
https://images.transparencycdn.org/images/Report_CPI2022_English.pdf
Transparency International. (2023b). 16 Spotlight Reporting Initiative. 
Transparency International. (2023c). 2022 Corruption Perception Index reveals neglect of anti-corruption efforts in Asia Pacific. https://images.transparencycdn.org/images/CPI-2022-Press-Regional-Release-AP-media-page_2023-01-30-184927_cxml.pdf
Wathne, C.; Stephenson, M.; (2021). The credibility of corruption statistics. https://www.u4.no/publications/the-credibility-of-corruption-statistics
United Nation. (2015). Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development. https://sdgs.un.org/2030agenda
United Nations Office on Drugs and Crime. (2021). Tackling corruption, important step for ‘inclusive, sustainable development’. https://news.un.org/en/story/2021/12/1107812
United Nations Office on Drugs and Crime. (2021). Monitoring SDG 16 Key figures and trends.https://www.unodc.org/documents/data-and-analysis/statistics/DataMatters2_sdg16.pdf
United Nations Office on Drugs and Crime. (2021). UNODC and the 2030 Agenda for Sustainable Development. https://www.unodc.org/documents/SDGs/SDG_Brochure_FINAL_24-02-2020.pdf

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น