สัปดาห์นี้ ชวนติดตาม ‘การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 30’ (CCPCJ)

วันนี้ ถึง 21 พ.ค. 2564 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย จะมีการประชุม (ออนไลน์) ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 30 หรือ 30th-session of the Commission on Crime Prevention and Criminal Justice (CCPCJ) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) ของ UN ซึ่งได้มีการประชุมมาทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เพื่อหารือนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา

ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูล-แนวโน้มของปัญหาแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้ปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UN Convention against Transnational Organized Crime – UNTOC) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UN Convention against Corruption – UNCAC) รวมถึงตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายและการรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม และอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า ตลอดจนบทบาทของเวทีนี้ในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

โดยกิจกรรมในสมัยที่ 30 นี้ยังมีการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น วัคซีนกับโควิด-19 ในเรือนจำ โควิด-19 และอาชญากรรม อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงบนฐานของความแตกต่างทางเพศสภาพ และการลักลอบขนคนเข้าเมือง (โดยที่ยังให้ความคุ้มครองสิทธิผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ยินยอมให้พาเข้าเมืองมา) เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะสถาบันเครือข่ายของสหประชาชาติด้านกระบวนการยุติธรรม (United Nations Programme Network Institute: UN-PNI) ก็จะเข้าร่วมอภิปรายพร้อมกับผลักดัน (ร่าง) ข้อมติที่เกี่ยวกับ ‘การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน’ รวมถึงการเดินหน้าปฏิรูประบบความยุติธรรมทางอาญาในบริบทของการระบาดโควิด-19 ด้วย

ส่วนในรายละเอียดนั้น มีโดยสังเขป ดังนี้ (สามารถอ่านเอกสารประกอบในที่ประชุมทั้งหมดได้ ที่นี่)

  • ประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการคอร์รัปชัน (E/CN.15/2021/4) เป็นการรายงานกิจกรรมที่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ดำเนินการระหว่าง กุมภาพันธ์ 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 จัดการกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมรูปแบบใหม่และการคอร์รัปชัน โดยมีในแง่ที่ UNODC ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการอาชญากรรมผ่านการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการและการประชุมหารือกับรัฐสมาชิก
  • ประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อผลักดันการบังคับใช้อนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย (E/CN.15/2021/5) – เป็นการรายงานกิจกรรมที่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ดำเนินการระหว่าง 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2563 กับการสนับสนุนให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามตราสารระหว่างประเทศ 19 ฉบับในการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึง ‘แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง’ (violent extremism) โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐ การตอบสนองต่อเหตุที่คำนึงถึงสถานการณ์โควิด-19 การช่วยเหลือเหยื่อ ประเด็นนักรบก่อการร้ายต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters) การปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุโจมตีต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด (Critical infrastructure) การเพิ่มขีดความสามารถด้วยการช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างประเทศ การป้องกันการใช้อาวุธนิวเคลียร์-ชีวภาพ-เคมีในการก่อการร้าย การป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่กลุ่มก่อการร้ายและสนับสนุนการนำกลับเข้าสู่สังคม ตลอดจนการดำเนินการ ‘ป้องกัน’ ที่ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง) #SDG11 (เมืองและการตั้งถิ่นฐานของคนที่ครอบคลุม ปลอดภัย ยั่งยืน) #SDG16 (สังคมที่สงบสุข มีสันติภาพ การเข้าถึงความยุติธรรมได้ทุกคน สถาบันที่รับผิดรับชอบ มีประสิทธิผล ครอบคลุมในทุกระดับ) เพื่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เป็นต้น
  • ประเด็นการหารือมาตรการป้องกันและต่อต้านการลักลอบขนคนเข้าเมือง โดยที่ยังคุ้มครองสิทธิของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ยินยอมให้พาเข้าเมือง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก และเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองมาด้วย (unaccompanied migrant children) (E/CN.15/2020/6) – ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญสำหรับรัฐสมาชิก ซึ่งมีการพูดคุยทั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา โฟกัสที่การกระทำการลักลอบขนคนเข้าเมืองหรือการค้ามนุษย์ หรือการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานโดยทั่วไป ตาม Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration โดยยังเน้นถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะป้องกัน สืบสวน และดำเนินคดีอาญาลงโทษการกระทำการลักลอบขนคนเข้าเมืองเพื่อยุติเครือข่ายนี้

ติดตามการประชุมฯ ได้ที่ : CCPCJ 30th

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมที่สงบสุข มีสันติภาพ ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่รับผิดรับชอบ มีประสิทธิผล และครอบคลุมในทุกระดับ
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลง
– (16.2) ยุติการข่มแหง การใช้หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ ความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
– (16.4) ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน เสริมความแข็งแกร่งของกระบวนการติดตามและการส่งคืนสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไป และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี 2573
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผลมีความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้องโดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 (17.16) หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
และยังเชื่อมโยงกับ
#SDG5 (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG11 ในด้าน ‘ความปลอดภัย’ ของเมืองและการตั้งถิ่นฐานของคน

แหล่งที่มา:
https://www.unodc.org/unodc/en/commissions/CCPCJ/session/30_Session_2021/session-30-of-the-ccpcj.html
https://reliefweb.int/report/world/technical-assistance-implementing-international-conventions-and-protocols-related
https://www.facebook.com/tijthailand.org

Last Updated on พฤษภาคม 17, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น