คำว่าจนยังไงก็เจ็บ ต่อให้อยู่ในสังคมที่รวยกว่าก็ตาม

เมื่อพูดถึงความยากจนเรามักจะนึกถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากความเจริญและขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เช่น ถนน และสัญญาณอินเตอร์เน็ต เป็นต้น แต่ในเมืองเองนั้นก็มีความจนอยู่ด้วยเช่นกันโดยผู้คนที่เผชิญกับความยากจนในเมืองมักจะอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนที่แออัดที่เรียกว่า สลัม (slum) นั่นเอง

ผู้อาศัยในชุมชนแออัดมักจะต้องทำงานในอาชีพที่อยู่นอกระบบ (informal jobs) ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อาทิ นโยบายช่วยเหลือผู้ตกงาน มากไปกว่านั้น ผู้คนที่อยู่ในกลุ่มนอกระบบในประเทศที่ยากจน มักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลย เห็นได้จากก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่เล็งเห็นและเป็นห่วงเรื่องความยากจนที่เกิดขึ้นในชนบทมากกว่าในเมืองไม่ว่าจะเป็นเมืองที่ร่ำรวยหรือยากจนกว่าก็ตามโดยเปรียบเทียบ ด้วยมองว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทมักจะเป็นผู้ที่ห่างไกลจากความเจริญ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้คนในชนบทนั้นกลับมีความเสี่ยงต่อโรคน้อยกว่าผู้คนที่ทำงานนอกระบบในเมือง และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะต้องเผชิญกับความหิวโหย เพราะยังคงสามารถหาอาหารได้จากการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่คนจนในเมืองไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับชาวเคนยาที่มากกว่า 1 ใน 3 ของคนเมือง จำเป็นต้องอดอาหารอย่างน้อย 1 มื้อในช่วงอาทิตย์ก่อนการร่วมตอบแบบสอบถามของธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  ขณะที่มีผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทเพียง 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว

นอกจากนั้น สลัมในแต่ละเมืองก็มีความแตกต่างกันไป กล่าวคือ สลัมในเมืองของประเทศที่ร่ำรวยกว่าย่อมจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าสลัมในประเทศยากจน ยกตัวอย่างเช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่ใน คิเบอร่า (Kibera) ซึ่งเป็นสลัมที่อยู่ในเมืองหลวงของประเทศเคนย่าเผชิญความลำบากมากกว่าสลัมในเมืองมาดริด (Madrid) ประเทศสเปน ที่ชื่อ คาญาดา เรอัล (Cañada Real) ซึ่งเป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ผู้คนที่อยู่ในสลัมคิเบอร่านั้นมีโอกาสที่จะเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) และขาดแคลนทรัพยากรขั้นพื้นฐาน อาทิ น้ำ สุขอนามัย และที่อยู่อาศัย มากกว่าผู้คนที่อยู่ในสลัมคาญาดา เรอัล

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ที่อยู่ในสลัมจะอยู่ในประเทศยากจนที่มักจะต้องเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรงหรือผู้ที่ต้องเผชิญความยากจนเชิงสัมพัทธ์ (relative poverty) ในสลัมของประเทศยุโรป นอกจากจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากใครเลยยังต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางจิตใจจากการถูกกีดกันจากสังคม (social exclusion) เพียงเพราะไม่มีเงินหรือทรัพยากรที่มากพอที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น ๆ ในสังคมได้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ

#SDG1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

#SDG2 ขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร

#SDG3 ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน

#SDG6 สร้างหลักประกันเรื่องการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ

#SDG11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน รวมถึงการยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573 (11.1)

แหล่งที่มา:

https://www.economist.com/international/2021/06/19/economically-covid-19-has-hit-hard-up-urbanites-hardest

https://www.worldbank.org/en/country/kenya/brief/monitoring-covid-19-impact-on-households-and-firms-in-kenya

#SDGWatch #IHPP #SDG1 #SDG2 #SDG3 #SDG6 #SDG10 #SDG11

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Sorravit Ma

    Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น