นักวิทยาศาสตร์ใช้งูสิงเป็นตัวชี้วัดปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ยังหลงเหลือหลังอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

หลังจากปรากฏการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ที่ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในฟุกุชิมะเสียหายจนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลผ่านมาแล้วถึงสิบปี นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีการวัดปริมาณการปนเปื้อนที่ยังหลงเหลือในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการติดตามการเดินทางและใช้ชีวิตของ ‘งูสิง’

ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก University of Georgia ใช้งูสิง (rat snake) ซึ่งเป็นงูไม่มีพิษที่พบมากในท้องถิ่นเป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของระบบนิเวศ เนื่องจากงูใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ทั้งบนดินและใต้ดินจึงได้สัมผัสการปนเปื้อนในดิน ทำให้งูกลายเป็น ‘ตัวชี้วัดที่มีชีวิต’ ของการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับที่คนงานเหมืองใช้นกคีรีบูนเป็นตัวตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเหมืองเพื่อป้องกันการสูดดมก๊าซพิษโดยไม่รู้ตัว

นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีติดเครื่องส่งสัญญาณติดตามและสัญญาน GPS ไว้บนตัวงูสิง 9 ตัว แล้วปล่อยงูเข้าไปในพื้นที่เขตห้ามเข้าในฟุกุชิมะ พบว่า หลังจากการเฝ้าติดตามการเดินทางของงูทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งเดือน พบว่างูเดินทางไปถึง 1,718 สถานที่ในที่ราบสูงอาบุคุมะ ซึ่งห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 24 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์พบว่า งูเดินทางเป็นระยะทางสั้น ๆ ในแต่ละวัน โดยบางครั้งเพียงแค่ 65 เมตร และหาที่พักใต้ดินในช่วงฤดูหนาวซึ่งจะเพิ่มช่วงเวลาที่งูสัมผัสดินที่มีการปนเปื้อนมากขึ้น เมื่อครบเวลานักวิทยาศาสตร์จะวัดระดับการปนเปื้อนที่สะสมในตัวงู ซึ่งเป็นตัวสะท้อนระดับการปนเปื้อนที่แตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่างูใช้ชีวิตอยู่ในต้นไม้ ทุ่งหญ้า และตามลำธารริมถนน หลีกเลี่ยงพื้นที่ภายในป่าสน มักพบว่าใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าผลัดใบ ริมชายป่า และภายในอาคารร้าง โดยมากกว่าครึ่งของงูที่ถูกติดตามใช้เวลาอยู่ในยุ้งฉางและเพิงที่ถูกทิ้งร้างเพราะสามารถช่วยป้องกันการสัมผัสการปนเปื้อนจากดินโดยรอบ

ทั้งนี้ งานวิจัยในอนาคตที่จะศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างถิ่นที่อยู่ขนาดเล็กของสิ่งมีชีวิตเช่น งู กับการสัมผัสกับสารปนเปื้อน ตลอดจนความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับงูและสัตว์ป่าอื่น ๆ อันเนื่องมาจากได้รับรังสีกัมมันตภาพเพิ่มขึ้นจะช่วยให้เข้าใจผลกระทบของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ต่อประชากรสัตว์ป่าในท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
- (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
- (15.3) ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573

ที่มา :
Using snakes to monitor Fukushima radiation (University of Georgia)
Snakes are helping scientists monitor radiation from Fukushima (EURO News)

Last Updated on สิงหาคม 13, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น