อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง และ 39 ประเทศรวมไทยจะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน

ข้อมูลจาก World Population Data Sheet ฉบับล่าสุด ปี 2021 คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนในภายในปี 2050 ซึ่งสูงกว่าจำนวนในปี 2020 เกือบ 2.4% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่คาดการณ์ใหม่ในรายงานฉบับนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่กำหนดตัวเลขไว้ที่ 9.9 พันล้าน ภายในปี 2050

World Population Data Sheet ได้จัดทำดัชนีชี้วัดประชากร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมประจำปีของประเทศและเขตการปกครองกว่า 200 แห่งทั่วโลก โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จากองค์กรไม่แสวงหากำไร Population Reference Bureau (PRB) ในรายงานฉบับปี 2021 นี้ได้เสนอข้อมูลเชิงลึกของแบบแผนและแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ที่เกิดขึ้น

รายงานได้แสดงข้อมูลอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ตามช่วงอายุของผู้หญิง และตามระดับรายได้ของประเทศ โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้

  • กลุ่มประเทศรายได้สูง

อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกกลุ่มอายุลดลงตั้งแต่ปี 1950 และหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และผู้หญิงในวัย 40 ปี มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด

  • กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

อัตราการเจริญพันธุ์คงที่ในหญิงช่วงวัย 30 ปี ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีบุตรในช้าในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ดังที่เป็นในประเทศรายได้สูง

  • กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ

อัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงทุกกลุ่มอายุลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้การมีบุตรช้า และอัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปีในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ 94 คนต่อหญิง 1,000 คน

นอกจากนั้นยังมีข้อค้นพบสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่

  • จีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปัจจุบัน ที่ 1.4 พันล้านคน
  • อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมทั่วโลก (จำนวนการเกิดรอดโดยเฉลี่ยตลอดชีวิตต่อผู้หญิง) คือ 2.3 ต่อผู้หญิง 1,000 คน ลดลงจากปี 1990 ที่ 3.2 คน
  • อายุขัยคาดเฉลี่ยระดับโลกของผู้หญิงอยู่ที่ 75 ปี และ ผู้ชาย อยู่ที่ 71 ปี
  • ภายในปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศจีน ไทย และยูเครน เป็นหนึ่งใน 39 ประเทศที่จะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน

จำนวนประชากรในประเทศไทยในปี 2020 อยู่ที่ 66.7 ล้านคน มีอัตราการเจริญพันธุ์และการตายอยู่ที่ 9 และ 8 ต่อผู้หญิง 1,000 คน และเนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรทั้งหมดในไทยจะลดลงเหลือ 64.1 ล้านคนภายในปี 2050

อย่างไรก็ตาม ไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ในหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ในปี 2020 สูงสุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 14% ของการเกิดทั้งหมดมาจากมารดาอายุ 15-19 ปี เท่ากับอัตราในประเทศลาว

อัตราการการเกิดที่น้อยลง นั่นหมายถึงจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น และข้อมูลยังระบุด้วยว่า การจำกัดการอยู่แต่ในที่พักเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้น ตามที่นักวิเคราะห์บางคนได้คาดการณ์ไว้

ดาวน์โหลดเอกสาร 2021 World Population Data Sheet ที่นี่
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมึสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้าในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-  (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลทีมีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ ที่จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563

ที่มา : 2021 Population Data Sheet Highlights Declining Fertility Rates (IISD Knowledge Hub)

Last Updated on สิงหาคม 19, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น