ไทยรั้งอันดับ 5 ของโลก ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ จากดัชนี Global Health Security Index (GHS) ปี 2021

ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index: GHS) ประจำปี 2021 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้จัดอันดับให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ของโลก จากการประเมินทั้งหมด 195 ประเทศ

Global Health Security Index จัดทำโดย ศูนย์ความมั่นคงทางสุขภาพประจำมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา องค์กร Nuclear Threat Initiative และศูนย์ Economist Impact ซึ่งทำการประเมินความมั่นคงทางสุขภาพและศักยภาพของทั้งหมด 195 ประเทศในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเกิดโรคระบาด (epidemics) และการระบาดใหญ่ (pandemics) ผ่านทั้งหมด 37 ตัวชี้วัด ที่อยู่ใน 6 หมวดหมู่ของการมีความมั่นคงทางสุขภาพ ได้แก่

  1. Prevention – การป้องกันการเกิดขึ้นหรือการรั่วไหลของเชื้อโรค
  2. Detection and Reporting – การตรวจคัดกรองและการรายงานโรคระบาดที่อาจเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้ตั้งแต่ระยะแรก
  3. Rapid Response – การตอบสนองอย่างเร่งด่วนและการบรรเทาผลกระทบของการแพร่กระจายของโรคระบาด
  4. Health System – ระบบสุขภาพที่ศักยภาพเพียงพอและเข้มแข็งในการรักษาผู้ป่วยและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์
  5. Compliance with International Norms – ความมุ่งมั่นในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ มีแผนการจัดหาเงินทุนเพื่ออุดช่องว่าง และดำเนินงานตามบรรทัดฐานระดับโลก
  6. Risk Environment – สภาพแวดล้อมความเสี่ยงโดยรวมและความเปราะบางของประเทศต่อภัยคุกคามทางชีวภาพ

ผลการวิเคราะห์ GHS Index ประจำปี 2021 พบว่า ทุกประเทศยังคงเตรียมพร้อมไม่เพียงพอสำหรับการเกิดโรคระบาดหรือการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่จะส่งผลให้โลกมีความเสี่ยงอย่างมากต่อภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคต โดยดูจากคะแนนเฉลี่ยของทุกประเทศที่อยู่ที่ 38.9 จากคะแนนเต็ม 100 และไม่มีประเทศใดเลยที่ทำคะแนนถึงในระดับสูงสุด หรือมากกว่า 80 คะแนน

สำหรับประเทศไทย ได้คะแนนรวมความมั่นคงทางสุขภาพที่ 68.2 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก แม้ว่าจะได้อันดับที่สูงขึ้นจากปี 2019 ที่อยู่อันดับที่ 6 แต่คะแนนรวมลดลง 0.7 คะแนน โดยประเทศที่ได้คะแนน GHS Index สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา (75.9) 2. ออสเตรเลีย (71.1) 3. ฟินแลนด์ (70.9) 4. แคนาดา (69.8) 5. ไทย (68.2) 6. สโลวาเนีย (67.8) 7. สหราชอาณาจักร (67.2) 8. เยอรมนี (65.5) 9. เกาหลีใต้ (65.4) และ 10. สวีเดน (64.9)

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศที่มีประชากร 50-100 ล้านคน และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง และไทยยังได้คะแนนในหมวดหมู่ ‘Detection and Reporting’ เป็นอันดับที่ 1 ของโลก (91.5 คะแนน) และในหมวดหมู่อื่น ๆ ไม่เกิน 12 อันดับแรก ยกเว้นหมวดหมู่ ‘Risk Environment’ ที่อยู่ที่อันดับ 88 ของโลก

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
- (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
- (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- (17.8) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563 

ที่มา : 2021 Global Health Security Index (GHSIndex)

Last Updated on ธันวาคม 10, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น