วิสัยทัศน์ใหม่ ความหวังใหม่ กับการขับเคลื่อนความยั่งยืน SDGs ในจังหวัดขอนแก่น

บทนำ

ในศตวรรษที่ 21 พลวัตทางสังคมหรือแม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากสำหรับสังคมในยุคปัจจุบัน ในขณะเดียวกันปัญหาต่าง ๆ ภายในสังคมล้วนถูกเปิดเผยมากยิ่งขึ้นตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ในระดับจุลภาค หรือ ส่วนที่เล็กในสังคม ถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำสู่ “ความก้าวหน้า” และ “ความหวังใหม่” ในจังหวัดขอนแก่น โดยถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าสำหรับการพัฒนาเมือง แต่ในขณะเดียวกัน “ปัญหา” ก็ตามมา ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย ระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ หรืองบประมาณของแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากัน ขนาดรายได้ต่อเฉลี่ยต่อคนในจังหวัดขอนแก่น 10,137 บาท/เดือน และ ขนาดของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) จังหวัด อยู่ที่ 208,472 ล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นรองเพียงแค่จังหวัดนครราชสีมา (ลงทุนแมน, 2022) สะท้อนให้เห็นว่าด้วยขนาดของเศรษฐกิจและ GDP มีขนาดที่ใหญ่อย่างมาก และเป็นแหล่งการทำงานของคนในเมือง ด้วยเหตุนี้ย่อมสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในและปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาของมลพิษ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ เพื่อสะท้อนว่าด้วยการขับเคลื่อนและแสดงให้เห็นถึงปัญหาของพลวัตภายใน ได้แก่ 1. ปัญหาภายในจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบของผู้คนในเมือง 2. การแก้ปัญหาด้วย SDGs สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่ และ 3. บทสรุปแห่งความหวังกับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะช่วยยกระดับจังหวัดขอนแก่นให้มีความยั่งยืนและเป็นแบบอย่างสำหรับจังหวัดและพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ

สำหรับปัญหาภายในจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบของผู้คนในเมือง

ผู้เขียนจะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ปัญหาทางด้านการศึกษา ปัญหาทางการเมือง ปัญหาภูมิอากาศ/สิ่งแวดล้อม และ ปัญหาคนไร้บ้านในเมือง ด้วย 4 ปัญหาเบื้องต้น จะสะท้อนภาพอย่างชัดเจนสำหรับ “เมือง” ที่จะเป็นตัวการนำพัฒนาและภาพสะท้อนของรากเหง้าบางอย่างจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม (ผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในอดีต) เป็นต้น

ปัญหาทางด้านการศึกษา กล่าวได้ว่าปัญหาทางด้านการศึกษาสำหรับจังหวัด มักเป็นในเรื่องของการขาดแรงจูงใจของผู้เรียนที่มิได้มีเป้าหมายในการเรียน ไม่สามารถเรียนทันเพื่อน ยาเสพติด พ่อแม่แยกทางหรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ความไม่พร้อมของฐานะครอบครัว/อาชีพไม่แน่นอน การขาดแคลนในเรื่องของทุนการศึกษา ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อน และการห่างไกลจากโรงเรียน (ภริณ ธนะโชติภน และ เพ็ญณี แนรอท, 2564. น. 62-63) จากข้อมูลเบื้องต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามักเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และการขาดทุนการศึกษา ในทีนี้ผู้เขียนมองว่า การขาดทุนการศึกษา และสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับการศึกษา เพราะอันเนื่องมาจาก ค่าเล่าเรียนผนวกกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีส่วนสำคัญให้เกิดปัญหาในการลงทุนการศึกษากับบุตร

ปัญหาทางด้านการเมือง ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับปัญหาเบื้องต้น ถึงแม้ว่าในแต่ละพื้นที่ทางสังคมและอาณาบริเวณต่าง ๆ จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับทุกพื้นที่หรือแม้กระทั่ง การดำเนินนโยบายและการเรียกร้องในด้านต่าง ๆ ในทางการเมือง คือ “เสรีภาพทางความคิด” การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน มีพลวัตทางสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องของคนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาแบบรัฐไทย (หรือการบริหารแบบบนลงล่าง) อาจจะไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจนอกเครื่องแบบได้มีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน (ภาคีนักเรียน KKC – กลุ่มนักเรียนที่เรียกร้องทางการเมือง) และได้มีการบอกกล่าวเตือน “ห้ามเคลื่อนไหว” ทางการเมือง (อติเทพ จันทร์เทศ, 2021) สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ด้วยปัญหาโครงสร้างทางการเมืองขนาดใหญ่ จนมาสู่ระดับล่าง การการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นกลับยิ่งปกปิดปัญหาจากเดิมที่มีอยู่ กลับหนักขึ้น ด้วยเหตุนี้ ปัญหาทางด้านการเมืองในจังหวัดขอนแก่นมิได้มีความแตกต่างในจังหวัดอื่น ๆ ยกเว้นในกรณีของปัญหาที่พบเจอในสถานที่และปัญหาตัวเมือง-ชนบทที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่ มักมาจากส่วนกลางตามแบบการบริหารราชการไทย เป็นหลัก 

ปัญหาทางด้านภูมิอากาศหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาในด้านนี้มักเป็นเรื่องของความรู้และความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา หรือการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก โดยสาเหตุหลัก ๆ มักมาจากการเผาขยะหรือพืชผลทางการเกษตร (เช่น การเผาอ้อยและข้าว) ด้วยข้อจำกัดที่มีแรงงานขาดแคลน จำเป็นจึงต้องเผาเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้สะดวกยิ่งขึ้น (นันท์ชนก วงษ์สมุทร์, 2019) สะท้อนให้เห็นว่าภายในจังหวัดขอนแก่นมิได้มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในเรื่องของฝุ่น PM 2.5 จากปัญหาเบื้องต้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการเผาขยะ สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไม่ใช่เพียงแค่ ปัญหาสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่ต้องใช้จ่ายยามสุขภาพป่วย เป็นต้น

ปัญหาคนไร้บ้านในเมือง กล่าวได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองแห่งการสร้างงาน งบประมาณสูง และระบบการขนส่งที่ดีกว่า (ดีกว่าในชนบท) ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาต่าง ๆ กลับสร้างความไม่เท่าเทียมและขาดการรองรับหรือขาดความเข้าใจมิติของการใช้ชีวิตในตัวเมือง “คนไร้บ้าน” กล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของคนไร้บ้านมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก เกินกว่าจะอธิบายเป็นเพียงแค่ส่วนบุคคล หรือปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่มักเกิดจากมิติในแง่ต่าง ๆ เช่น การตกงาน หรือร่างกายพิการ ผนวกกับไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่มีเครือข่ายทางสังคมคอยช่วยเหลือ ไม่มีรัฐสวัสดิการ และอื่น ๆ เช่น การขาดทักษะฝีมือ วุฒิการศึกษาต่ำ และไม่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจ (Kalil Pitsuwan, 2018) จากข้างต้นนี้เป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคำนิยามดังกล่าว ในกรณีของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นผลมาจากการพัฒนาของเมืองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนไร้บ้านถือได้ว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงน้อยอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันน้อยกว่าคนอื่นในสังคม (การพบปะผู้คน) ในขณะเดียวกันการเข้าถึงอุปกรณ์การป้องกันโควิด-19 เช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ กลับเข้าถึงยากหรือไม่มีโอกาสสำหรับกลุ่มคนไร้บ้านที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ (วีระวรรธน์ สมนึก, 2020) 

จากปัญหาทั้ง 4 ด้านที่ผู้เขียนยกมาเป็นประเด็นหลักในการสะท้อนถึงปัญหา จนนำมาสู่ผลกระทบของเมือง หรือภายในจังหวัดขอนแก่น กล่าวโดยสรุปในทัศนะของผู้เขียน ปัญหาสำหรับการศึกษา นั้นส่งผลให้เกิดนักเรียน (รวมถึงสายสามัญและสายอาชีพ) ออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำให้สูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล (ทุนมนุษย์) ผลกระทบนี้ทำให้เกิดแรงงานที่ขาดทักษะที่สูงเพื่อมารองรับหรือเพื่อมาพัฒนาเมืองดังกล่าว ปัญหาทางการเมือง กล่าวได้ว่า เป็นปัญหาที่ใหญ่และมักเป็นเรื่องระดับประเทศ แต่ในระดับจังหวัดนั้น มักเป็นเรื่องของการทุจริต ในอดีตกรณีของ ธกส.สาขาขอนแก่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้าว เช่น นโยบายของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีคนมาจำนำข้าวมิได้มีปริมาณข้าวเพียงพอกับจำนวนที่แจ้งไว้ (เจ้าที่ดิน) (The Isaan Record, 2011) ปัญหาทางด้านภูมิอากาศหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่าผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่กระทบกับตัวเมืองเป็นหลักเท่านั้นรวมไปถึงบริเวณเมืองรอบข้าง แต่ผลกระทบหลัก มักเป็นเรื่องของ “ผลกระทบในด้านสุขภาพ” และปัญหาของคนไร้บ้าน กล่าวได้ว่า “คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหาของเมือง” แต่เนื่องด้วยปัจจัยเบื้องต้นที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมา (คำนิยาม) สภาวะดังกล่าวเกิดการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมและการรองรับจากปัญหาของคนตกงานหรือไร้ที่พึงพา (การไม่มีรัฐสวัสดิการพื้นฐานสำหรับคนทุกกลุ่ม) ด้วยเหตุนี้ ผลกระทบทั้ง 4 ด้านย่อมนำซึ่ง “ปัญหา” หากไม่สามารถแก้ไข กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิม 

การแก้ปัญหาด้วย SDGs สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่

จากปัญหาเบื้องต้นทั้ง 4 ด้าน นำมาสู่การแก้ไขปัญหาด้วย SDGs (Sustainable Development Goals) โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Science, Mahidol. ม.ป.ป.) โดยผู้เขียนจะยกเป้าหมายหลัก ๆ เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสำหรับในปัญหาแต่ละด้าน ปัญหาทางด้านการศึกษากับการแก้ไขปัญหาด้วย เป้าหมายสำหรับ SDGs ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 – 3.c เพิ่มการใช้เงินที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก เป้าหมายที่ 4 – 4.a สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน โดยทั้งจากเป้าหมายที่ 3 (3.c) และ 4 (4.a) ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาภายในจังหวัดขอนแก่นได้ เช่น การพัฒนา ฝึกฝน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนและในขณะเดียวกัน การยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษา จะช่วยให้สามารถ ลดต้นทุนทางการศึกษาได้ ด้วยเหตุนี้ปัญหาจากสภาพแวดล้อมดังกล่าว การมีความพร้อมในสถานศึกษา (การมีบริการทางการศึกษา) จะสามารถเพิ่มความสนใจและเป้าหมายต่อการเรียน ทั้งนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขและกฎระเบียบจากรัฐที่มีความชัดเจน ต่อการวางงบประมาณดังกล่าวต่อการศึกษา

ปัญหาทางด้านการเมืองสำหรับการแก้ไขปัญหาด้วยเป้าหมาย SDGs ได้แก่ เป้าหมายที่ 16 – 16.3 ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน 16.5 ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ โดย ทั้งสามองค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นส่วนที่สำคัญในการสร้างการเมืองที่ดี ภายในจังหวัดขอนแก่นได้ แต่ด้วยข้อจำกัดจากการเมืองในระดับประเทศและการเมืองในระดับท้องถิ่น มักเป็นเรื่องเดียวกัน (ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องกฎระเบียบ) เพราะอันเนื่องมาจากระบบราชการไทยและปัญหาของท้องถิ่นมักเป็นเรื่องที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญ ความคิดเห็นทางการเมือง ปฏิเสธมิได้ว่าเป็นสิ่งที่มิสามารถควบคุมได้ แต่ถ้าหากมีกลไกที่สามารถสร้างความร่วมมือหรือแม้กระทั่ง การสร้างความก้าวหน้าทางสังคมในระดับสากล ดังนั้น SDGs จะเป็นคำตอบสำหรับทางเลือกใหม่ต่อสังคมไทยที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะการมีหลักนิติธรรม และการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือการสร้างสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งมักมาจากผู้มีส่วนร่วมที่หลากหลายในสังคม

ปัญหาทางด้านภูมิอากาศหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับการแก้ปัญหาด้วย SDGs ได้แก่ เป้าหมายที่ 13 – 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 13.b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ จากเป้าหมายที่ 13 กับสององค์ประกอบที่สำคัญ นี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนได้ภายในจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 ในขณะเดียวกัน การสร้างความร่วมมือจากท้องถิ่นและผู้คนในสังคมที่มีความแตกต่างกัน (การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน) จะนำไปสู่การวางแผนและการพัฒนานโยบายในสังคมได้

ปัญหาของคนไร้บ้าน สำหรับการแก้ไขปัญหาด้วย SDGs ได้แก่ เป้าหมายที่ 11 – 11.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573 11.2 จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ และคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573 อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นสำหรับปัญหาของคนไร้บ้าน นั้นมีมิติและความแตกต่างอย่างมาก แต่ภายหลังกระบวนดังกล่าวนี้ เราจะสามารถรับรองพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างไร? สำหรับเป้าหมายที่ 11 นี้เองเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบคมนาคมภายในจังหวัดขอนแก่น หรือแม้กระทั่งการมีหลักประกันดังกล่าว จะเป็นเกาะป้องกันสำหรับในกรณีของการเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (คนตกงาน)

กล่าวได้ว่าการแก้ไขปัญหา ด้วย SDGs ซึ่งเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับชาติและในระดับภูมิภาค แต่ในระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งงานของผู้คน การสร้างหลักประกัน และการสร้างสภาพแวดล้อมจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ถึงแม้จะเกิดข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้านก็ตาม

บทสรุปแห่งความหวังกับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด

“ความหวัง” ถือว่าเป็นประโยคที่ล้วนแล้วเต็มไปด้วยความฝันและความคาดหวังต่ออนาคต แต่สำหรับบทบาทโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” กล่าวได้ว่าหากผู้เขียนได้เป็นผู้ว่าฯ (ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจ)จะเริ่มต้นโดย “การวางรากฐาน” ที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง การวางรากฐานเหล่านี้หมายถึง โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการขนส่ง ซึ่งหมายถึงการลดต้นทุนของประชาชนที่ใช้การเดินทาง (SDGs 11.2) จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และในขณะเดียวกันสร้างพื้นที่ ที่สามารถทำให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยจะเอื้ออำนวยต่อการวางแผนและการดำเนินนโยบาย โดยให้ผู้คนในสังคมสามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ได้ โดยจะสามารถเพิ่มหลักนิติธรรม (SDGs 16.3) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด มีข้อจำกัด และกฎระเบียบจากส่วนกลางที่การดำเนินนโยบายต่าง ๆ มิอาจสามารถดำเนินโดยรัฐได้ ทั้งนี้ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และประชาชน ทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการลงมือแก้ไขปัญหา และสร้างความตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยหลักของ SDGs

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก 
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ 
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน 
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573 
– (11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ และคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ 
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง 
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน 
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ 
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ


อ้างอิง:

นันท์ชนก วงษ์สมุทร์. (10 เมษายน 2019). ฝุ่น : คนขอนแก่นสร้างเครือข่ายโซเชียลสกัดปัญหามลพิษในอากาศ. BBC. https://www.bbc.com/thai/thailand-47876368
ภริณ ธนะโชติภน , เพ็ญณี แนรอท. (2564). สาเหตุการออกกลางคันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 จังหวัดขอนแก่น. Journal of Modern Learning Development. 6(3), 62-63.
ลงทุนแมน. (22 เมษายน 2022). จังหวัดที่มี GDP สูงสุด ในแต่ละภูมิภาค. https://www.longtunman.com/37666
วีระวรรธน์ สมนึก. (21 เมษายน 2020). โลกของคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19. theisaanrecord. https://theisaanrecord.co/2020/04/21/homeless-in-khon-kaen-during-
the-covid-19-crisis/
อติเทพ จันทร์เทศ. (9 มิถุนายน 2021). นอกเครื่องแบบขอนแก่นคุกคามบ้านนักเรียน สั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง. theisaanrecord. https://theisaanrecord.co/2021/06/09/31126/
Kalil Pitsuwan. (26 May 2018). ‘โลกของคนไร้บ้าน’ ว่าด้วยชนชั้นและการพิสูจน์ความเป็นตัวเองต่อสังคม. TheMATTER. https://thematter.co/thinkers/homeless-world/51863
Science, Mahidol. (ม.ป.ป.). เป้าหมาย SDGs 17 ประการ. https://science.mahidol.ac.th/sdgs/sdgs-17/
The Isaan Record. (12 ตุลาคม 2011). นโยบายข้าวยิ่งลักษณ์ขัดขวางการทุจริตในท้องถิ่น. https://theisaanrecord.co/2011/10/12/นโยบายข้าวยิ่งลักษณ์ขั/

ผู้เขียน: เฉลิมชัย โยธานันต์
สถาบันการศึกษา:
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร” 

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น