น้ำมันรั่วกลางทะเลอ่าวไทย สร้างผลกระทบต่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ ที่อาจมองไม่เห็น

น้ำมันรั่วในทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร  เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 มีการแจ้งเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลพื้นที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากท่อรับส่งน้ำมันดิบของบริษัทไทยออยล์จำกัด (มหาชน) แตกรั่ว ทำให้น้ำมันดิบชนิด ARUB Light Crude ไหลลงสู่ทะเลปริมาณถึง 45,000 ลิตร เบื้องต้นบริษัทฯ ขออนุญาตใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) จำนวน 6,000 ลิตร เพื่อขจัดคราบน้ำมัน ขณะที่ มีการคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน น้ำมันจะมีทิศทางไหลเข้าสู่ฝั่ง จุดแรกที่เกาะท้ายค้างคาว อ่าวอุดม และอาจรวมถึงหาดวอนนภา 

หลังจากเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเล บริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การประสานงานกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อรีบจัดการคราบน้ำมันก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังบริเวณใกล้เคียง ซึ่งปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ประมาณ 50-70 ลูกบาศก์เมตร หรือราว 45,000 ลิตร อยู่ใน ระดับที่ 2 (Tier II) คือ รั่วไหลมาก 

หลังจากบริษัทฯ สามารถควบคุมสถานการณ์ปิดวาล์วท่อน้ำมันที่เกิดปัญหาได้ จึงดำเนินการวางทุ่นล้อมคราบน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่กระจายตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล ทำให้ไม่มีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มเติมแล้วและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นบริษัทได้ขออนุญาตใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) ชนิด Super Dispersant 25 จำนวน 6,000 ลิตร เพื่อควบคุมสถานการณ์ขจัดคาบน้ำมันที่เกิดขึ้น ขณะที่ กรมเจ้าท่ากำลังดำเนินการเพื่อเตรียมการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน รวมทั้งมีการส่งทีมเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและการเก็บตัวอย่างน้ำและน้ำมันเพื่อวิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

สำหรับขั้นตอนการเก็บกู้คราบน้ำมัน ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติพบว่า ระดับที่ 2 (Tier II) รั่วไหลมากกว่า 20-1,000 ลิตร การขจัดคราบน้ำมันต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน

ด้าน ดร. สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงข้อควรระวังของการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเลหรือ dispersant พ่นลงไปใกล้ฝั่งในระยะน้อยกว่า 5 กิโลเมตร หยดน้ำมันจะย่อยสลายไม่ทันและจะจับตัวกลายเป็นก้อนของน้ำมันเหลว (sedimentation) เมื่อจมลงใต้ทะเลอาจไปปกคลุมหญ้าทะลหรือปะการังหรือไปปกคลุมกับสัตว์ทะเลได้ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 7 วัน อาจจะพัดเข้าฝั่งจนกลายเป็นก้อนน้ำมันเหนียวหรือ Tar ball ขนาดเล็กจำนวนมากสร้างความสกปรกให้ชายหาดแหล่งท่องเที่ยวได้

ภาพจาก : ปภ.ชลบุรี

อย่างไรก็ดี คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากน้ำคราบมันทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จะทำให้ออกซิเจนในน้ำนั้นลดลง ซึ่งเป็นการไปปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืชสาหร่ายและพืชน้ำต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เช่น ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง รวมถึงนกน้ำด้วย กลายเป็นการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงก์ตอนพืช) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายอย่างมนุษย์

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่ 
งานประชุม IGC5 ที่ “ไครียะห์ ระหมันยะ” บินลัดฟ้าไปเข้าร่วม ณ สำนักงานใหญ่ UN สำคัญกับโลกใบนี้อย่างไร?
จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง 
SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนมกราคม 2566 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563

แหล่งที่มา: 
ด่วน! ทิศทางคราบน้ำมันรั่ว 4.5 หมื่นลิตรจุดแรกเข้า “เกาะท้ายค้างคาว” – thaipbs
“คาดถึงฝั่งใน 1 สัปดาห์” น้ำมันดิบไทยออยล์ 70 ลบม.รั่วกลางอ่าวไทย ชลบุรี –  greennews
น้ำมันรั่วไหล – สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น้ำมันรั่ว แหลมฉบัง ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเล – สื่อเถื่อน

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น