SDG Insights | ประมงทำลายล้าง โจทย์ความไม่ยั่งยืนของระบบนิเวศทะเลไทย

ภควรรณ ตาฬวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านการจัดการประมงอย่างยั่งยืน

ทรัพยากรประมงเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่บริหารจัดการได้ยาก ทั้งสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ตลอดเวลา อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล มองจากด้านบนก็เห็นแต่เพียงน้ำทะเล ไม่ได้เห็นว่าใต้น้ำนั้นมีปลาอยู่มากน้อยแค่ไหน การจัดการทรัพยากรที่มองไม่เห็นนั้นยากมาก ถ้าเทียบกับทรัพยากรป่าไม้ หากเกิดการตัดไม้ทำลายป่าขึ้น ขับรถผ่านก็ยังพอมองเห็น ส่งโดรนขึ้นไปถ่ายภาพก็ยังได้ หรือถ้าเทียบกับกรณีมลพิษฝุ่น PM2.5 อย่างน้อยที่สุดมองออกไปนอกอาคาร เราก็เห็นว่าฝุ่นเกิดขึ้นแล้วและคงอยู่อย่างนั้นหลายวัน ถึงเวลาต้องแก้ไขปัญหาแล้ว ในขณะที่เราไม่รู้เลยว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่ผู้คนชอบบริโภคนั้น ถูกจับจากทะเลไปมากน้อยแค่ไหน ใกล้หมดจากทะเลหรือยัง ถ้าไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาตอบ สิ่งที่ยากที่สุดในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงคือจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจปากท้อง กับการอนุรักษ์ให้ทรัพยากรสามารถฟื้นคืนได้ด้วยตัวเอง 

และแม้จะสามารถจัดการให้สัตว์น้ำที่เหลือในทะเลมีจำนวนมากพอที่จะออกลูกออกหลานขึ้นมาทดแทนรุ่นพ่อแม่ที่ถูกจับไปได้ ก็ยังไม่สามารถเรียกว่าประมงยั่งยืนได้ เรายังต้องพิจารณาด้วยว่าวิธีการทำประมงนั้นมีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากน้อยแค่ไหน ทั้งในเรื่องโอกาสที่สัตว์ทะเลหายากจะติดเครื่องมือประมงมา พื้นที่ทำประมงอาจทับซ้อนกับแหล่งหญ้าทะเลหรือใกล้แนวปะการัง รวมทั้งประเด็นว่าสัตว์น้ำต่างๆที่จับมานั้น บางชนิดถ้าจับมามากเกินไปอาจมีผลกระทบต่อสายใยอาหารในระบบนิเวศ ทั้งหมดนี้คือข้อพิจารณากว่าจะเรียกการทำประมงใดๆสักอย่างนึงว่าประมงยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อมได้

ความยั่งยืนมี 3 มิติ คือ มิติทางสิ่งแวดล้อม มิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางสังคม ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงมิติทางสิ่งแวดล้อมและมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนมิติทางสังคม ซึ่งรวมถึงแรงงานบนเรือประมง หรือความปลอดภัยทางอาหาร ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้เนื่องจากจะทำให้ประเด็นแตกออกไปอีกมาก ความยั่งยืนที่แท้จริงต้องครอบคลุมทั้ง 3 มิติ 

ทั้งนี้ การจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เป็นประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถาม “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ” ที่ SDG Move ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มองว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลที่สุดในหมวดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสที่ปี 2566 นี้ เป็นปีที่ 8 หรือครึ่งทางของการดำเนินการตามวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 

SDG Move ในฐานะศูนย์วิจัยที่มีภารกิจติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะในประเทศไทย จึงได้จัดทำเนื้อหานำเสนอในชุด “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ” เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการวิพากษ์และทบทวนนโยบายการจัดการปัญหาที่เป็นความท้าทายสำคัญของประเทศตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โดยบทความนี้จะพาผู้อ่านทำความรู้จักว่าอะไรคือการประมงเกินขนาด อะไรคือการประมงผิดกฎหมาย และอะไรคือการประมงที่ยั่งยืน ตลอดจนสถานการณ์การประมงในท้องทะเลไทยพร้อมส่งต่อไปถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการประมงไทยต่อรัฐบาลใหม่


01 – การทำประมงที่ไม่ยั่งยืน 3 แบบ: (a) การทำประมงทำลายล้าง, (b) การทำประมงเกินขนาด และ (c) การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(a) การทำประมงทำลายล้าง (Destructive Fishing) เป็นการมองที่วิธีการทำประมง เช่น การระเบิดปลา การทำประมงที่ทำลายหน้าดิน ปะการัง หรือหญ้าทะเล การจับฉลามเพื่อทำหูฉลาม การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ในความหมายที่กว้างมากขึ้น อาจจะรวมถึงการจับปลาในพื้นที่วางไข่และแหล่งอนุบาล และการจับสัตว์น้ำพลอยได้ในปริมาณมาก ในบางกรณี อาจมีการใช้คำว่า “การทำประมงทำลายล้าง” ในความหมายที่รวมถึงการทำประมงเกินขนาดที่ไม่สามารถฟื้นคืนปริมาณสัตว์น้ำได้ และไม่ว่าจะเป็นประมงขนาดเล็กหรือประมงขนาดใหญ่ ก็สามารถทำประมงทำลายล้างได้ทั้งนั้น ประมงขนาดเล็ก อาจมีการใช้ระเบิดปลา หรือทำประมงใกล้แนวปะการัง ในขณะที่เรือประมงขนาดใหญ่อย่างอวนลาก เรือคราดหอย ทำประมงแบบกวาดหน้าดินเพื่อให้ได้สัตว์น้ำมา หรือการทำประมงที่ใช้ไฟล่อแล้วได้จับสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่เนื่องจากกำลังในการทำประมงที่ต่างกัน ระดับผลกระทบต่อระบบนิเวศก็จะไม่เท่ากัน จะเห็นได้ว่า การประมงทำลายล้างมองถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นหลัก

(b) ประมงเกินขนาด (Overfishing) คือ สภาวะการทำประมงที่เกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ ต้องมีการศึกษาคำนวนปริมาณประชากรสัตว์น้ำในทะเล และผลรวมของผลจับสัตว์น้ำจากการทำประมงของเรือหลายๆลำ โดยใช้ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) เป็นจุดอ้างอิง ประมงเกินขนาดมองที่สัตว์น้ำเป้าหมาย เช่น ปลาทู ปลากะตัก ปูม้า เป็นต้น ในกรณีที่ไม่ได้เก็บข้อมูลละเอียดถึงรายชนิด อาจคิดเป็นกลุ่มสัตว์น้ำได้ เช่น กลุ่มปลาหน้าดิน 

ประมงเกินขนาดนั้นมี 2 รูปแบบ คือ ‘Growth Overfishing’ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าวัยที่สามารถให้เกิดลูกหลานทดแทนได้สูงสุด ปลานั้นเมื่อมีไข่ครั้งแรกจะมีจำนวนน้อย แต่ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม แม่ปลาจะผลิตไข่ได้มากขึ้น เมื่อถูกจับก่อนจะเจริญพันธุ์เต็มที่ ก็ทำให้ประชากรสัตว์น้ำที่เกิดมาทดแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ‘Growth Overfishing’  โดยตัวมันเองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถของประชากรสัตว์น้ำในการผลิตลูกหลานขึ้นมาทดแทน [1] อีกรูปเเบบคือ ‘Recruitment Overfishing’ เป็นการจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้สัตว์น้ำรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาทดแทนมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน ลักษณะของสภาวะ ‘Recruitment Overfishing’ คือประชากรสัตว์น้ำในระยะที่วางไข่ได้ลดลงอย่างมาก สัดส่วนปลาอายุมากในผลจับก็ลดลง และโดยทั่วไปแล้วลูกหลานที่เกิดขึ้นมาทดแทนจะลดลงเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี ถ้าสภาวะแบบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ประชากรสัตว์น้ำนั้นหมดไปจากทะเล [2] เนื่องจาก ประมงขนาดเล็ก(พื้นบ้าน) และขนาดใหญ่ (พาณิชย์) ต่างมีส่วนที่ทำให้เกิดประมงเกินขนาด แต่ไม่ใช่สัดส่วนที่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนเรือ ลักษณะการทำประมง สัตว์น้ำเป้าหมาย เช่น การทำประมงขนาดใหญ่อย่างอวนลากที่ขนาดตาอวนก้นถุงเล็ก มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นปริมาณมาก เป็นสาเหตุให้เกิด Growth Overfishing ได้มาก ส่วนเรือประมงขนาดเล็กมีปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อลำไม่มาก แต่เมื่อคูณด้วยจำนวนเรือ ก็มีโอกาสที่ผลรวมสัตว์น้ำที่จับมาจะใกล้เคียงกับการทำประมงขนาดใหญ่ที่จับได้เยอะในแต่ละครั้งแต่มีจำนวนเรือน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ผลจับปูม้าจากเรือประมงขนาดเล็กกับเรือประมงขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2560 ฝั่งอ่าวไทย ในปีนั้นปริมาณปูม้าที่จับจากฝั่งอ่าวไทย เกินศักยภาพการผลิตจากธรรมชาติประมาณ 20% [3] โดยเป็นผลจับจากประมงขนาดเล็ก 10.7 พันตัน [4] และจากประมงขนาดใหญ่ 11.4 พันตัน [5]

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

(c) การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) ในบทความนี้ จะมองในบริบทการทำประมงในน่านน้ำไทยเป็นหลัก การทำประมงผิดกฎหมาย คือ การทำประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐหรือละเมิดกฎหมายของรัฐ การทำประมงที่ขาดการรายงาน คือการทำประมงที่ไม่มีการรายงานหรือรายงานไม่ถูกต้องต่อหน่วยงานรัฐ ส่วนการทำประมงที่ไร้การควบคุม คือการทำประมงโดยเรือที่ไม่มีสัญชาติ ไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการทำประมงที่ขัดต่อมาตรการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ [6]

การทำประมง 3 แบบนี้ เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

การทำประมงที่เกินศักยภาพการผลิตโดยธรรมชาติไปอย่างมาก ซึ่งจะมีผลกระทบในระบบนิเวศ นับเป็นการทำประมงแบบทำลายล้างอย่างหนึ่ง และการทำประมงแบบ IUU Fishing เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมประมงทำลายล้างและประมงเกินขนาดให้ยิ่งแย่ลง [7]

ประมงทำลายล้างอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทำประมงเกินขนาด ยกตัวอย่างเช่น การทำประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนมาจำนวนมาก ก็สามารถทำให้เกิด Growth Overfishing อย่างที่กล่าวไปข้างต้นได้ ประมงทำลายล้างเป็นประมงผิดกฎหมายด้วยได้ เช่น การใช้วัตถุระเบิดหรือการใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง เป็นทั้งประมงทำลายล้างและประมงผิดกฎหมาย เพราะเขียนไว้ชัดเจนในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 60 แต่ไม่ใช่ประมงทำลายล้างทั้งหมดจะเป็นประมงผิดกฎหมาย เช่น การทำประมงที่จับฉลาม (ชนิดที่ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง) ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ฉลามเป็นผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร มีผลต่อระบบนิเวศ หรืออย่างกรณีประมงอวนลากหรือคราดหอยที่ทำลายหน้าดิน ก็เป็นการทำประมงถูกกฎหมาย หากมีใบอนุญาต จับในพื้นที่สำหรับประมงพาณิชย์ ขนาดตาอวนก้นถุงถูกต้องตามกฎหมาย มีการรายงานด้วยระบบติดตามเรือว่าจับสัตว์น้ำที่ไหน และรายงานว่าได้สัตว์น้ำอะไรมาบ้าง มากน้อยแค่ไหน 

ในการพิจารณาว่าการกระทำใดบ้าง “ผิดกฎหมาย” ต้องพิจารณาหลายประเด็น เช่น ตัวเครื่องมือเองมีการกำหนดขนาดตา หรือจำนวนเครื่องมือต่อลำ พื้นที่ทำประมงนั้นอนุญาตให้จับสัตว์น้ำได้หรือเปล่า มีใบอนุญาตทำประมงหรือไม่ การไม่ปฏิบัติตามก็คือการผิดกฎหมาย หากพิจารณาในทางกลับกัน ประมงที่ไม่ทำลายล้างนั้นก็สามารถเป็นการทำประมงผิดกฎหมายได้ เช่น ทำประมงเบ็ดมือที่เลือกจับสัตว์น้ำ แต่ไปจับปลาในพื้นที่ที่ไม่ได้อนุญาตให้ทำประมง กรณีอย่างนี้ก็ผิดกฎหมาย ดังนั้น ประมงทำลายล้าง ประมงเกินขนาด และประมงแบบ IUU ต้องพิจารณาแยกเป็นประเด็น ๆ ไป

การศึกษาล่าสุดในปี 2565 โดยคุณ Willer และคณะพบว่า ทั้งโลกนี้ไม่ได้มีคำนิยามสำหรับคำว่าประมงทำลายล้างที่ชัดเจน และเครื่องมือประมงหรือวิธีการทำประมงที่นับว่าเป็นการทำลายล้างก็แตกต่างกันไปตามทวีป นอกจากนี้การใช้คำว่าประมงทำลายล้างในเอกสารวิชาการ ในสื่อ และในนโยบายก็แตกต่างกันไปอีก การไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนมีผลต่อวิธีการวัดผลความก้าวหน้าในการดำเนินการ SDG 14.4


02 – ประมงยั่งยืน หน้าตาเป็นอย่างไร

องค์ประกอบของประมงยั่งยืน [8] มี 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

  1. ประชากรสัตว์น้ำเป้าหมายอยู่ในสภาะที่ดี ซึ่ง ‘ดี’ ในที่นี้หมายถึง สามารถผลิตรุ่นลูกหลานขึ้นมาทดแทนได้ต่อไปในอนาคต หรือ ไม่ได้อยู่ในสภาวะเกินศักย์การผลิตของสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ องค์ประกอบข้อแรก ก็คือการจัดการกับปัญหาประมงเกินขนาดได้นั่นเอง การจะทำให้ประชากรสัตว์น้ำอยู่ในสภาวะที่ดี ต้องมีการติดตามเก็บข้อมูลและประเมินผลทางวิทยาศาสตร์ มีกฎระเบียบการทำประมงที่ช่วยรักษาประชากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ผลิตประชากรสัตว์น้ำรุ่นใหม่มาทดแทนได้
  1. เกิดผลกระทบจากการทำประมงต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งมองในเรื่องสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) หรือสัตว์น้ำที่ติดมาพร้อมกับการจับสัตว์น้ำที่มุ่งจับโดยเฉพาะ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ถูกคุกคาม หรือสัตว์คุ้มครอง อย่างเช่น เต่า โลมา วาฬ ผลกระทบการทำประมงต่อแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล และผลกระทบการทำประมงต่อระบบนิเวศที่มองถึงสายใยอาหารและความสมดุลในระบบนิเวศ จะเห็นว่าถ้าเป็นการทำประมงปลาผิวน้ำ เช่น ปลาทู ปลากะตัก แหล่งที่อยู่อาศัยก็เป็นเพียงพื้นน้ำ ซึ่งถ้าเทียบกับการจับปลาหน้าดิน โอกาสที่เครื่องมือประมงจะทำลายหน้าดินก็มีสูง องค์ประกอบที่สอง ที่มองเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเป็นหลัก ก็คือการจัดการกับปัญหาการทำประมงทำลายล้างนั่นเอง 
  1. การบริหารจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรก การบริหารจัดการแบบมองในภาพใหญ่ว่าการทำประมงทุกชนิดรวมกันในน่านน้ำหนึ่ง ๆ  เช่น ถ้าเป็นน่านน้ำไทย ก็พิจารณาการบริหารจัดการประมงทั้งประเทศไทย ที่มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และแก้ไข พ.ศ. 2560 เป็นหลัก มีวัตถุประสงค์ระยะยาวในการจัดการประมงอย่างไร รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สอง เป็นการบริหารจัดการเฉพาะประมงหนึ่งๆ ตามสัตว์น้ำเป้าหมาย ดูว่ามีกระบวนการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบการทำประมงมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการติดตามตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพของการบริหารจัดการประมงนั้นด้วย องค์ประกอบที่สามของการประมงยั่งยืน มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม การรายงานการทำประมง โดยเฉพาะผลจับสัตว์น้ำจะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปประเมินประชากรสัตว์น้ำ (องค์ประกอบที่ 1) 

องค์ประกอบที่ 1 และ 3 มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะหากประชากรปลาเข้าสู่สภาวะถูกจับมากเกินไป ลูกหลานเกิดขึ้นมาทดแทนไม่ทัน แต่มีการจัดการที่ดี ในระยะเวลาหนึ่ง ประชากรปลาจะเข้าสู่สภาวะที่ดี ในทางตรงกันข้าม ต่อให้สัตว์น้ำไม่ได้อยู่ในสภาวะ overfished แต่การบริหารจัดการประมงที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถทำให้เกิดประมงเกินขนาดได้


03 – สถานการณ์ประมงไทย

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ส่วนประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา IUU ก็เท่ากับเป็นการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 14 เช่นกัน ซึ่งหลังจากที่ได้รับใบเหลือง ก็มีความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการประมง ทั้งแผนระบบการติดตามตรวจสอบนโยบายและกฎหมาย ทั้งการจัดทำระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) และศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง (Fisheries Management Center: FMC) จัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port In-Port Out: PIPO) 22 ชายฝั่งทะเล ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มีการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับ มีการกำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่ให้ทำประมงได้ มีการจัดทำแผนบริหารจัดการประมงระดับชาติ (Fisheries Management Plan) เป็นครั้งแรก และแก้ไขกฎหมายประมงให้ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้นเป็นพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 ซึ่งทำให้มีคณะกรรมการประมงแห่งชาติ และคณะกรรมการประมงจังหวัด เป็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายประมงฉบับใหม่นี้ไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงของชาวประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ แต่น่าจะมีการแก้ไขในเรื่องนี้ ในกระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่มีการรับร่างจำนวน 7 ร่าง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายใหม่ได้มากขึ้น

เมื่อพิจารณาปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ต่อหน่วยการลงแรงประมง หรือ catch per unit effort (CPUE) ซึ่งมักใช้เป็นวิธีวัดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ มีหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อชั่วโมง โดยเปรียบเทียบข้อมูลล่าสุดคือปีพ.ศ. 2564 [9] กับปี พ.ศ. 2559 [10] ที่เริ่มดำเนินการ SDGs เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ในฝั่งอ่าวไทย พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงประมาณ 4-6 กิโลกรัม/ชั่วโมง และพื้นที่หรือเขตที่มีปริมาณสัตว์น้ำมาก ขยับจากเขต 5 และ 6 คือ จากปลายประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และต้นสุราษฎร์ธานี เป็น เขต 6 และ 7 คือกลางชุมพร สุราษฎร์ธานี จนถึงกลางนครศรีธรรมราช ในเวลา 6 ปี พื้นที่เขต 7 โซนสุราษฎร์ธานีจากที่เป็นพื้นที่ที่มีค่า CPUE ต่ำสุดเมื่อปี 2559 มาอยู่ในกลุ่มที่มีค่า CPUE สูงสุดในภาคใต้ แต่ที่น่าสนใจคือฝั่งตะวันออก เขต 1 ตราดและบางส่วนของจันทบุรี มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเกือบสี่เท่าในเวลา 6 ปี จาก 22 เป็น 85 กิโลกรัมต่อชั่วโมง น่าศึกษาต่อว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์นี้ 

ส่วนฝั่งอันดามัน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างชัดเจน พื้นที่กลางพังงาและภูเก็ต ซึ่งเป็นเขตที่มีค่า CPUE ต่ำสุดทั้งสองปี มีค่า CPUE ลดลงครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 30 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในเวลา 6 ปี และเขต 4 (ตรัง สตูล) ลดลงจาก 85 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2559 เป็น 59 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2564

ด้านจำนวนและขนาดของเรือประมง ปี 2563 กรมเจ้าท่าให้เรือประมงขนาดเล็กขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย จึงทำให้จำนวนเรือประมงขนาดเล็ก เพิ่มขึ้นจาก 27,000 ลำ [11] ในปี 2559 เป็น 50,000 ลำ [12] ในปี 2565 แม้ว่าในปี2566 จะลดลงมาที่ประมาณ 48,000 ลำก็ตาม [13] และในเวลา 8 ปี ทำให้สัดส่วนของเรือพื้นบ้านต่อเรือพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 70:30 เป็น 80:20 จึงต้องมีการบริหารจัดการเรือพื้นบ้านให้ดี เพราะมีผลต่อการรายงานและคำนวนผลจับสัตว์น้ำ และมีผลต่อพื้นที่ทำประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งในช่วง 3 ปีจากปี 2563-2565 เรือประมงพื้นบ้าน ร่วม 50,000 ลำ ทำประมงในพื้นที่เพียง 3 ไมล์ทะเลจากฝั่ง นับว่าเป็นแรงกดดันจากการทำประมงต่อทรัพยากรอยู่พอสมควร แต่ปลายปี 2565 มีการประกาศกฎกระทรวงเขตทะเลชายฝั่งเป็นรายจังหวัด มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็ต้องรอดูผลจากการบังคับใช้ต่อไปในอนาคตว่าเป็นอย่างไร

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

เมื่อย้อนดูสถิติจำนวนเรือและผลจับสัตว์น้ำ ทำให้เราเห็นแนวโน้ม ช่วงแรกในปี 2555 – 2558 ยังไม่มีการเก็บสถิติเรือประมงพื้นบ้าน แต่สามารถเห็นสัดส่วนผลจับสัตว์น้ำว่ามาจากเรือประมงพื้นบ้าน:เรือพาณิชย์ = 15:85 ช่วงที่สองปี 2559 – 2562 ที่เริ่มดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบ IUU สัดส่วนเรือประมงพื้นบ้านต่อเรือประมงพาณิชย์ โดยประมาณ 70:30 โดยได้ผลจับสัตว์น้ำ ที่ 10:90 ช่วงที่สามปี 2563-2565 สัดส่วนจำนวนเรือประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 80:20 ให้ ผลจับสัตว์น้ำ 20:80 ซึ่งเป็นการกระจายทรัพยากรตามทฤษฎี 20:80 

ประเด็นการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมาตลอด เมื่อเราพิจารณาจำนวนเรือกลุ่มอวนลากก็มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ลดลงกว่าห้าร้อยลำในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ของปลาป่นเฉพาะที่มาจากกลุ่มเรืออวนลาก เพิ่มขึ้นถึง 28% ของผลจับจากเรือพาณิชย์ทั้งหมด ในช่วงปี 2564-2565 อวนลากคู่แม้ว่าจะมีจำนวนที่น้อยกว่าอวนลากแผ่นตะเฆ่ แต่เป็นกลุ่มที่จับปลาเป็ดได้มากที่สุด

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

ด้านสัตว์น้ำจากการทำประมงพาณิชย์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปลาทูเป็นสัตว์น้ำที่เห็นการลดลงอย่างมากในปี 2558-2559 แต่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ผลจับปลาทูค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมา ปลากะตักเป็นอีกชนิดที่มีผลจับเพิ่มเเละลดลงอย่างไม่คงที่แต่ไม่มากนัก และเป็นปลาที่สำคัญต่อประมงพาณิชย์ ในขณะที่ ปลาหลังเขียว กุ้งแชบ๊วย ปูม้า หมึกกล้วย มีแนวโน้มลงลงมาเรื่อย ๆ

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

ฝั่งประมงพื้นบ้าน ทรัพยากรปลาทูก็ลดลงอย่างมากในช่วงปีเดียวกัน แต่มีแนวโน้มฟื้นคืนกลับมาหลังจากปี 2560 รวมถึงสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ด้วยที่มีแนวโน้มผลจับที่มากขึ้น ทั้งปูม้า กุ้งแชบ๊วย หมึกกล้วย และปลาหลังเขียว


04 – เปลี่ยนผ่านสู่ประมงยั่งยืน

ทั้งที่เราเห็นความพยายามของภาครัฐในการแก้ปัญหา การสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ตัวเลขค่าผลผลิตที่ยั่งยืนและผลจับที่ยังไม่ถึงค่า MSY ในหลายกลุ่มสัตว์น้ำ แต่ทำไมชาวประมงส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่า ทรัพยากรการประมงไม่ยั่งยืน สัตว์น้ำมีขนาดเล็กลงเเละปริมาณน้อยลง มีประเด็นอะไรที่ควรต้องทำเพื่อให้เราไปสู่ประมงยั่งยืนได้บ้าง

ประมงถูกกฎหมายไม่เท่ากับประมงยั่งยืน

ประการแรก ชาวประมงและคนที่ทำงานในพื้นที่ชายฝั่ง เห็นสินค้าที่ทำจากสัตว์น้ำวัยอ่อนตามตลาดและขายออนไลน์กันมากขึ้น ทั้งลูกปลาทู ลูกปูม้า ลูกปลากะตัก หรือปลาฉลาม แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ฉลามที่ไม่ได้เป็นสัตว์คุ้มครอง ก็ยังสามารถจับได้ ขายได้ ประการต่อมา การทำประมงทำลายล้าง ทำลายหน้าดิน มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ก็ยังถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณามาตรการที่จะบริหารจัดการประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ

ในบางร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 4 ที่เป็นวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ วรรค 2 เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประมงที่ถูกกฎหมายในทุกขนาดและเครื่องมือ ชุมชนประมง และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน แต่ประมงถูกกฎหมายไม่เท่ากับประมงยั่งยืน อวนลากและขนาดตาอวนเล็กก็เป็นเครื่องมือประมงถูกกฎหมาย การเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ มีโอกาสที่จะกลายเป็นการสนับสนุนประมงทำลายล้าง จับสัตว์น้ำวัยอ่อน และนำไปสู่การทำประมงเกินขนาด เป็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับ SDG 14.6

SDG 14.6 ภายในปี พ.ศ. 2563 ยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนที่ ส่งเสริมให้เกิดการประมงที่เกินขีดจำกัด ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมายที่ไม่มี การรายงานและที่ไม่มีการควบคุม 

บทบาทของการทำประมงพื้นบ้าน / ประมงขนาดเล็ก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ในสถานการณ์ที่มีเวลาจำกัด กำลังคนจำกัด งบประมาณจำกัด สิ่งที่ควรทำก่อนคือการแก้ไขปัญหาที่หนักหนาก่อน มีผลกระทบทางลบทั้งต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศอย่างมากก่อน อย่างกรณีลดจำนวนเรือประมงพาณิชย์ในช่วงแรกที่ได้รับใบเหลือง เพื่อลดการลงแรงประมง แต่เมื่อมองการบริหารจัดการในระยะยาวขึ้น การพิจารณาแนวโน้มจะช่วยให้ทราบว่าการทำประมงขนาดเล็กมีบทบาทมากขึ้นในการจับสัตว์น้ำบางประเภท เช่น กุ้งแชบ๊วย และปูม้า ในแง่การกระจายทรัพยากร ก็นับว่าไปสู่ชาวประมงพื้นบ้าน (ประมงขนาดเล็ก) มากขึ้น ซึ่งทำให้การรายงานข้อมูลผลจับจากชาวประมงขนาดเล็กมีความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ข้อมูลจากเรือประมงพาณิชย์เท่านั้น การจะเปลี่ยนผ่านสู่ประมงยั่งยืนได้จึงต้องมีการวางระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจากการทำประมงขนาดเล็ก ทั้งข้อมูลเรือ พื้นที่ทำประมง และปริมาณผลจับสัตว์น้ำ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับชาวประมงในการให้ข้อมูลเหล่านี้ด้วย 

ที่มา : กองวิจัยเเละพัฒนาประมงทะเล

ภาพใหญ่ห่วงโซ่อุปทาน 

สัตว์น้ำจากการทำประมงนั้น ส่วนนึงขายสดไปตามตลาด ส่งร้านอาหารและภัตตาคาร และอีกส่วนหนึ่งคือการนำเข้าโรงงานแปรรูป แตกเส้นทางไปตามห่วงโซ่อุปทาน การขับเคลื่อนให้เกิดการทำประมงยั่งยืนจึงไม่ได้จบแค่ในทะเล เพราะการติดตามตรวจสอบการทำประมงในทะเลไม่สามารถทำได้ตลอดเวลากับเรือทุกลำ การมองภาพใหญ่ที่รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของสินค้าอาหารทะเล เป็นการตรวจสอบอีกทางหนึ่งว่าชาวประมงจับอะไรจากทะเลขึ้นมาขาย เป็นสัตว์คุ้มครองหรือไม่ สัตว์น้ำวัยอ่อนหรือไม่ ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดสินค้าสัตว์น้ำที่วางขายให้มีขนาดสอดคล้องกับกฎหมายประมง ในส่วนนี้อาจจะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมประมงโดยตรง ก็ต้องเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐส่วนอื่น เป็นประเด็นที่ชัดเจนว่า การจะผลักดันให้เกิดประมงยั่งยืนได้จริง ต้องทำงานร่วมกันในหลายหน่วยงานของภาครัฐ และยังต้องทำงานกับภาคส่วนอื่น ๆ อีกด้วย

การกำหนดขนาดการวางขายสินค้าสัตว์น้ำ เป็นการปิดโอกาสที่จะให้สัตว์น้ำวัยอ่อนเข้าสู่ตลาด เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน ไม่ให้มีราคา กฎหมายประมงเป็นการห้ามตั้งแต่ก่อนการทำประมง หากปฏิบัติตามจริง ทั้งเรื่องชนิดหรือขนาดสัตว์น้ำ ก็จะต้องไม่มาอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่อยู่ในตลาดสด ไม่มีในเมนูของร้านอาหารหรือภัตตาคาร ไม่แปรรูปมาขายตลาดนัด หรือตลาดของฝาก ส่วนการมีกฎหมายกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่นำมาขายเป็นการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง หลังทำการประมงว่า ผลจับเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องการเปลี่ยนชื่อเรียกสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นชื่ออื่น ให้เหมือนเป็นสัตว์น้ำคนละชนิดกับตัวเต็มวัย ทีมวิชาการและทีมประชาสัมพันธ์ควรทำงานร่วมกันเพื่อแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสื่อสารต่อสังคมเเละผู้บริโภค 

นอกจากนี้ เพื่อให้สัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ยังต้องมีการกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อลดความสับสนของผู้บริโภค ถ้าเรากำหนดขนาดปลาที่ยอมให้จับได้ ต้องเป็นตัวเต็มวัย สมมุติว่า 12 เซนติเมตร การนำเข้าปลานั้นจากต่างประเทศเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศ ก็ต้องเป็นขนาดเดียวกัน เพราะถ้าต่างกันแล้วจะส่งผลมให้ 1. เกิดการผสมสัตว์น้ำ เมื่อถูกตรวจสอบก็อ้างว่าเป็นสัตว์น้ำนำเข้า และ 2.ผู้บริโภคสับสน ว่าสัตว์น้ำตัวเต็มวัยมีขนาดเท่าใดกันแน่ที่สามารถซื้อมาบริโภคได้ 

มาตรฐานความยั่งยืนและการสื่อสารกับผู้บริโภค

ปัจจุบัน ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ผู้บริโภคตระหนักว่าอำนาจการซื้อของตนเองนั้นสามารถทำให้สินค้าในห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุดผู้บริโภคกลุ่มนี้ ก็ไม่สนับสนุนสินค้าประมงที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ว่ามาจากการทำประมงผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่รู้ว่าจับมาอย่างไร ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยินดีจ่ายแพงกว่า ถ้าสามารถตรวจสอบและยืนยันได้ว่า สินค้าที่จะซื้อมาจากการทำประมงยั่งยืน จึงเป็นที่มาว่าทำไมมาตรฐานความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

สินค้าประมงที่ได้มาตรฐานด้านความยั่งยืน สามารถขายในตลาดที่ผู้ซื้อยอมจ่ายในราคาที่ดีกว่า เข้าข่ายแนวคิด “น้อยแต่มาก” ชาวประมงไม่ได้ต้องจับมาก แต่สามารถขายได้ราคาดี เพราะจับแบบยั่งยืน ไม่ได้มาจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ มีการตรวจสอบย้อนกลับ มีการบริหารจัดการประมงที่ดี และมีหลักฐานหลักฐานว่าผลกระทบจากการทำประมงต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ สินค้าประมงที่ผ่านการรับรองเป็นที่ต้องการในตลาดหลาย ๆ ประเทศ ในช่วงที่สินค้าผ่านการรับรองยังมีวางขายน้อย ก็จะได้ราคาพรีเมี่ยมสูง ตามกลไกตลาดอุปสงค์อุปทาน แต่ในอนาคต เมื่อหลาย ๆ ประเทศผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้าประมงไปในแนวทางนี้ เมื่อมีสินค้ามากขึ้น ราคาพรีเมี่ยมอาจไม่ได้สูงอย่างเดิม แต่สิ่งที่ได้คือการได้เข้าถึงตลาดที่ให้ราคาดี ในขณะที่สินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานอาจไม่สามารถวางขายในประเทศนั้นได้เลย ดังนั้นใครปรับตัวเร็ว ก็ได้เปรียบทั้งราคาและการเข้าถึงตลาด การค้าขายแบบเก่า คือราคาต่อหน่วยให้ถูก ๆ แล้วจับให้มากเข้าไว้ นำปริมาณเข้าว่า เป็นแนวทางที่ล้าสมัยและมีแต่ทำร้ายทะเลต่อไปเรื่อย ๆ 

เมื่อมองกลับเข้ามาในประเทศไทย ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องมาตรฐานความยั่งยืนอยู่มาก และการดำเนินการแบบไทย ๆ น่าจะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาตรฐานในระดับสากล ประเด็นแรก สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องมาตรฐานคือการสื่อสารกับผู้บริโภค แต่การผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการเรื่องมาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารหรือกระทั่งมีเงินทุนในการประชาสัมพันธ์ว่า มาตรฐานหรือสัญลักษณ์ของมาตรฐานนี้คืออะไร มุมมองภาครัฐนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดกลายเป็นองค์ประกอบ / วิชาการ / หรือระดับความเข้มข้นของมาตรฐาน เมื่อสื่อสารไม่เข้าใจหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรือสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่มาตรฐานสากลทำ 

ประเด็นที่สอง คือความเชื่อถือของผู้บริโภคต่อมาตรฐานนั้น ในการออกแบบระบบการรับรองมาตรฐาน จึงควรเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐาน กับหน่วยงานที่ประเมินเพื่อให้มาตรฐานนั้น เป็นคนละหน่วยงานกัน หรือที่เรียกว่า  third-party audit ถ้ากำหนดมาตรฐานเอง ตรวจประเมินเอง หรือที่เรียกว่า second-party audit ความน่าเชื่อถือก็จะต่ำลง และในประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันสูง การมีมาตรฐานเองของประเทศไทย จึงไม่สร้างความเชื่อถือทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศได้

ภาษาทางกฎหมาย

ประเด็นการกำหนดขนาดสัตว์น้ำเล็กสุดที่ยอมให้จับได้ ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558  มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง จึงมีข้อกังวลจากภาครัฐว่า ถ้าชาวประมงไม่ได้ต้องการแต่บังเอิญจับได้ นำขึ้นเรือ และเจอเรือตรวจลาดตระเวน ก็จะกลายเป็นการทำผิดกฎหมายทันที มาตรการนี้ที่ดำเนินการในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ใช้ชื่อว่า Minimum Landing Size (MLS) หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กสุดที่ยอมให้นำขึ้นท่าได้ จุดตัดที่จะกลายเป็นผิดกฎหมายคือการที่ชาวประมงตัดสินใจเอาสัตว์น้ำขนาดเล็กนั้นขึ้นท่า ไม่ใช่ขึ้นเรือ ระยะเวลาจากจุดที่ทำประมงในทะเลจนกระทั่งกลับเข้าฝั่ง น่าจะเพียงพอในการวัดเจตนาแล้วว่าต้องการจับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยหรือไม่ หรือจะคืนสู่ทะเลในกรณีไม่ได้ตั้งใจจะจับ ภาษาทางกฎหมายเพียงนิดเดียวกลายเป็นจุดที่ทำให้ออกมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น


05 – ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการประมงไทยต่อรัฐบาลใหม่

วาง Roadmap เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเตรียมตัว

การประกาศพระราชกำหนด พ.ศ. 2558 นั้น นอกจากไม่ได้มีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ยังมีการบังคับใช้อย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวประมงไม่มีเวลาเตรียมตัวในการปรับเปลี่ยน เรือและเครื่องมือประมงคือสิ่งจำเป็นในการหารายได้ หากมีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ ลดจำนวนเรือ ห้ามทำประมงในพื้นที่ที่ประกาศใหม่ ต่างมีผลต่ออาชีพและรายได้ของชาวประมง การบริหารจัดการประมงจะราบรื่นมากกว่า ถ้ามีการวางแผนระยะยาว จะทำอะไร เมื่อไหร่ โดยเฉพาะถ้าจะลดจำนวนเรือบางประเภท จำนวนเครื่องมือประมงต่อลำ หรือขยายขนาดตาอวน  ปรับเปลี่ยนเครื่องมือ ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น จะลดจำนวนเรือทำประมงทำลายล้าง ก. ให้เหลือ x ในอีก 3 ปี ให้เหลือ y ในอีก 5 ปี ภายในปี 25XX จะยกเลิกการทำประมงประเภทนี้เพราะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศสูงมาก เป็นต้น ทำออกมาเป็น Roadmap ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบล่วงหน้า หรือจะขยายขนาดตาอวนเป็น x เซนติเมตร เพื่อให้จับเฉพาะสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยแล้ว หาก 2 ปีที่บังคับใช้ สภาวะสัตว์น้ำนั้นยังไม่ได้ดีขึ้น จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร มีแผนในขั้นตอนต่อไปอย่างไร

งบประมาณเพื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ข้อมูลผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) และการประเมินสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำ ควรดำเนินการกับสัตว์น้ำระดับกลุ่มชนิด (species groups) หรือระดับชนิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ข้อมูลนี้จะช่วยให้เกิดการจัดการที่นำไปสู่การทำประมงยั่งยืนได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีงบประมาณในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา คือสัตว์น้ำ 3 กลุ่ม ปลาผิวน้ำ ปลาหน้าดิน และปลากะตัก นอกจากนี้ ยังควรมีงบประมาณสำหรับงานวิจัยเพื่อรับมือกับการการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ต้องเริ่มจากการมองไปในอนาคต แล้วคำนึงถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และการเตรียมรับมือ เช่น การเปลี่ยนแปลงของตลาดสินค้าประมง หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อโลกเดือด น้ำทะเลร้อน มีผลต่อสัตว์น้ำอย่างไร ชาวประมงควรต้องปรับตัวอย่างไร และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เตรียมไว้คืออะไร

ฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำ ไม่ได้มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพียงอย่างเดียว

การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเป็นกิจกรรมยอดนิยม ด้วยความหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำได้ แต่เรายังไม่มีผลการศึกษาอัตรารอดในธรรมชาติหลังจากปล่อย จึงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะมายืนยัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลการศึกษาแล้ว ต้องมีการคิดต่อ ว่าจะหยุดปล่อยเมื่อไหร่ เหตุผลคือ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนทะเล เป็นตัวช่วยเพื่อให้ประชากรสัตว์น้ำในธรรมชาติฟื้นคืนได้ และเมื่อฟื้นคืนแล้ว ประมงยั่งยืนคือการที่ประชากรสัตว์น้ำสามารถผลิตสัตว์น้ำรุ่นใหม่ทดแทนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้ตัวช่วย และที่สำคัญกว่านั้นที่สังคมไทยไม่ค่อยพิจารณาคือ หากว่าอัตรารอดสูง การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจะไปเปลี่ยนโครงสร้างระบบนิเวศ หลักคิดคือ เมื่อเติมสัตว์น้ำไปในระบบถึงจุดสมดุลแล้ว ให้พอ สังคมไทยเราผูกติดความความดี การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเหมือนได้ทำความดี ได้ให้ชีวิต (ถ้ารอด) แต่อย่างไรเสีย การเติมสัตว์น้ำเข้าไปในระบบ มีผลต่อโครงสร้างระบบนิเวศ 

ส่วนในกรณีที่อัตรารอดต่ำ ในมุมมองการบริหารจัดการ  ซึ่งต้องพิจารณาเรื่อง งบประมาณ เวลา กำลังคน ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่วิธีการแบบอื่น ไม่ใช่เพิ่มการปล่อย การมีมาตรการเรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำได้

บทนิยามประเภทการทำประมงในร่างกฎหมายใหม่

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 หลายร่าง พยายามกำหนดนิยามของประมงพื้นบ้าน ว่าเป็นการทำประมงเพื่อการยังชีพ ซึ่งไม่ได้มีการให้นิยามต่อว่า ‘ยังชีพ’ ในที่นี้ หมายถึงให้นำสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมงเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ห้ามซื้อขายหรือไม่ หลายร่างกำหนดที่เรือประมงต่ำกว่า 5 ตันกรอส ซึ่งตามสถิติเรือประมง เรือกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 75% ของเรือทั้งหมด และจับสัตว์น้ำหลายชนิดได้ในปริมาณมากที่ส่งขายตลาดและโรงงานแปรรูป 

ร่างนโยบายฟื้นฟูการประมงทะเลของพรรคเพื่อไทย

การออกพระราชกำหนดการประมง ฉบับที่ 3 ภายใน 90 วัน อาจจะเป็นการเข้าสู่ปัญหาแบบเดิม คือ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ กลับเข้าสู่รูปแบบเดิมคือรีบประกาศใช้ ครั้งแรกคือเพื่อให้ภาครัฐแก้ปัญหาใบเหลือง ส่วนครั้งนี้รีบแก้ปัญหาชาวประมงพาณิชย์ แต่ระยะเวลาเพียงสามเดือนไม่สามารถแก้ไขปัญหาประมงได้อย่างเป็นระบบ และภายใน 1 ปีแรก จะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อเรือคืน จากนั้น มีการส่งเสริมการต่อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่า ดูจะเป็นการดำเนินงานที่แปลก การซื้อเรือคืนคือการเอาเรือออกจากระบบ เป็นการลดการลงแรงประมง ให้เท่ากับปริมาณทรัพยากรที่เรามี ให้ทรัพยากรฟื้นคืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ที่ได้ใบเหลือง เป็นไปได้ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จหรืองบประมาณไม่เพียงพอ แต่การส่งเสริมให้ต่อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่านั้น ควรอธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุผลของการดำเนินนโยบายนี้คืออะไร นโยบายประมงควรชัดเจนและไม่ขัดกันเอง

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– Global Tuna Alliance ย้ำความร่วมมือและวิสัยทัศน์ที่รับผิดชอบร่วมกันจะทำให้ทะเลไม่บอบช้ำและมีทูน่าพอสำหรับโลก
Parties to the Nauru Agreement (PNA) – ข้อตกลงของแปดประเทศเกาะในแปซิฟิกเพื่อการประมงทูน่าที่ยั่งยืน
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– อินโดนีเซียประเมินประชากรสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ในเขตประมงทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการประมงและอนุรักษ์สัตว์น้ำได้ยั่งยืนขึ้น
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง 
– ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือจากปัตตานีถึง กทม. ติด #ทวงน้ำพริกปลาทู เรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน
ระบบนิเวศชายฝั่ง: อ่างกักเก็บคาร์บอนของโลกที่ช่วยลด ‘Social Cost of Carbon (SCC)’ และผลกระทบจาก Climate Change
“ประมงอวนลาก ภัยเงียบคุกคามอนาคตทะเลไทย ? หาคำตอบผ่านรายงานอุตสาหกรรมอวนลากฯ ฉบับล่าสุดของ EJF”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.6) ภายในปี 2563 ห้ามการอุดหนุนการประมงบางประเภทซึ่งก่อทำให้เกิดศักยภาพการทำประมงที่มากเกินไป ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว ตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดควรเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

อ้างอิง :
[1] International Seafood Sustainability Foundation. Growth overfishing. https://www.iss-foundation.org/glossary/growth-overfishing/
[2] International Seafood Sustainability Foundation. Recruitment overfishing. https://www.iss-foundation.org/glossary/recruitment-overfishing/
[3] กรมประมง (2665) แผนปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการการทำประมงปูม้า 56 หน้า
[4] กรมประมง (2561) สถิติปริมาณการจับสัตว์น้ำจากการทำประมงพื้นบ้าน ปี 2560 142 หน้า
[5] กรมประมง (2561) ปริมาณการจับสัตว์น้ำเค็มจากการทำการประมงพาณิชย์ 2560 195 หน้า
[6] https://thaipublica.org/2015/05/food-chain-1/
[7] FAO/UNEP (2009). Report of the FAO/UNEP Expert Meeting on Impacts of Destructive Fishing Practices, Unsustainable Fishing, and Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing on Marine Biodiversity and Habitats (pp. 1–32). FAO Fisheries and Aquaculture Report. No. 932.
[8] ไทยพับลิก้า. เบื้องหลังใบเหลืองประมงไทย “ข้อชี้แจงเดิมๆปัญหาการขึ้นทะเบียนเรือ – หน่วยงานลับอียูตรวจพบไทย”ผักชีโรยหน้า”. https://www.msc.org/what-we-are-doing/our-approach/what-is-sustainable-fishing
[9] กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง (2564) รายงานประจำปี 2564 68หน้า
[10] กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง (2559) รายงานประจำปี 2559 39หน้า
[11] กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง เอกสารฉบับที่ 12/2560 (2560) สถิติเรือประมงไทย ปี 2559 200 หน้า
[12] กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง เอกสารฉบับที่ 8/2565 (2565) สถิติเรือประมงไทย ปี 2565  217 หน้า
[13] กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง เอกสารฉบับที่ 3/2566 (2566) สถิติเรือประมงไทย ปี 2566  217 หน้า
[14] ไทยพับลิก้า. “เศรษฐา” รับข้อเรียกร้องปลดล็อคปม IUU-เจรจาเปิดน่านน้ำทำประมงไทยในอินโดนีเซีย. https://thaipublica.org/2023/09/unlock-iuu-fishing-01-09-2566/
[15] Willer, D. F., Brian, J. I., Derrick, C. J., Hicks, M., Pacay, A., McCarthy, A. H., Benbow, S., Brooks, H., Hazin, C., Mukherjee, N., McOwen, C. J., Walker, J., & Steadman, D. (2022). ‘Destructive fishing’—A ubiquitously used but vague term? Usage and impacts across academic research, media and policy. Fish and Fisheries, 23, 1039–1054. https:// doi.org/10.1111/faf.12668

Last Updated on มกราคม 23, 2024

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น