SDG Policy Focus : เลือกตั้ง 66 นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ SDGs ที่สุด

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 66 การเลือกตั้งทั่วไปที่ประชาชนตื่นตัวมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย SDG Policy Focus ฉบับนี้ชวนทุกคนสำรวจนโยบายของ 9 พรรคการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจและมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ในช่วงเวลาครึ่งหลังของวาระ SDGs ที่เหลืออยู่อีก 7 ปี  นโยบายของพวกเขาจะเป็นตัวกำหนดว่า 4 ปีต่อจากนี้ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันปี 2030 (พ.ศ. 2573) หรือไม่ นโยบายของพรรคการเมืองใดครอบคลุม และตอบโจทย์ประเด็นท้าทายตาม SDGs มากที่สุด 


Disclaimers

  • “นโยบายที่ตอบโจทย์ SDGs” ในบทความฉบับนี้พิจารณาความครอบคลุมของนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอว่ามีการกล่าวถึงหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืนที่เป็นความท้าทายของสังคมไทยมากน้อยเพียงใด
  • ประเด็นความยั่งยืนที่นำมาใช้พิจารณา คัดเลือกมาจากประเด็นวิกฤตของประเทศไทยตามสถานะ SDGs ประเด็นที่ถูกบรรจุเอาไว้ในเป้าหมายย่อย (target) ของ SDGs และประเด็นที่ประชาชนให้ความเห็นว่าไม่ยั่งยืนจากแบบสำรวจ Thailand’s Unsustainable Development Review แบ่งเป็น 7 ด้าน รวม 62 ประเด็น
  • พรรคการเมืองที่นำมาวิเคราะห์นโยบายเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดจากผลการสำรวจโดยสวนดุสิตโพล ซึ่งเป็นโพลล่าสุดที่เผยแพร่ในช่วงเวลาที่เริ่มทำการวิเคราะห์นโยบาย รวมทั้งสิ้น 9 พรรค ได้แก่  พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย  พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเสรีรวมไทย
  • การเข้าถึงข้อมูลนโยบายของพรรคการเมือง พิจารณาจากนโยบายที่พรรคยื่นต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง และนโยบายที่ปรากฏบนเว็บไซต์ทางการของพรรค ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566

1. ภาพรวมนโยบายของแต่ละพรรคจำแนกรายด้าน 

บทความฉบับนี้จำแนกนโยบายออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ (1) คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี (2) ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการเมือง (3) เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (4) ระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดี (5) การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (6) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (7) การบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม เมื่อพิจารณาจำนวนนโยบายเทียบกับประเด็นความยั่งยืนที่กำหนดจำแนกตามด้าน พบว่า

ด้านที่มีพรรคเสนอนโยบายมากที่สุด คือ เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม คิดเป็นร้อยละ 58.02 จากทั้งหมด 9 ประเด็น  ตามด้วย อันดับที่ 2 ระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดี คิดเป็นร้อยละ 48.61 จากทั้งหมด 8 ประเด็น  อันดับที่ 3  ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการเมือง คิดเป็นร้อยละ 46.91 จากทั้งหมด 9 ประเด็น  อันดับที่ 4 คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี คิดเป็นร้อยละ 40.6 จากทั้งหมด 13 ประเด็น อันดับที่ 5 การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คิดเป็นร้อยละ 25.93 จากทั้งหมด 6 ประเด็น อันดับที่ 6 การบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 20.99 จากทั้งหมด 9 ประเด็น และอันดับสุดท้าย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดเป็นร้อยละ 19.44 จากทั้งหมด 8 ประเด็น ดังตาราง

อันดับด้านจำนวนประเด็นความยั่งยืนร้อยละของนโยบายเทียบกับจำนวนประเด็น
1ด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม958.02
2ด้านระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดี848.61
3ด้านที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการเมือง946.91
4ด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี1340.6
5ด้านการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ625.93
6ด้านการบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม920.99
7ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม819.44
  1. พรรคที่เสนอนโยบายครอบคลุมทุกด้าน มีจำนวน 4 พรรค ได้แก่
    • พรรคก้าวไกล 
    • พรรคชาติไทยพัฒนา 
    • พรรคไทยสร้างไทย 
    • พรรคเพื่อไทย
  2. พรรคที่เสนอนโยบายครอบคลุม 5 ด้านขึ้นไป มีจำนวน 4 พรรค ได้แก่
    • พลังประชารัฐ เสนอ 5 ด้าน ด้านที่ไม่ได้นำเสนอ คือ การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม
    • ภูมิใจไทย เสนอ 5 ด้าน ด้านที่ไม่ได้นำเสนอ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ การบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม
    • รวมไทยสร้างชาติ เสนอ 5 ด้าน ด้านที่ไม่ได้นำเสนอ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ การบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม
    • เสรีรวมไทย เสนอ 6 ด้าน ด้านที่ไม่ได้นำเสนอ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  
  3. พรรคที่เสนอนโยบายครอบคลุม 4 ด้าน มีจำนวน 1 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ 3 ด้าน ด้านที่ไม่ได้นำเสนอ คือ การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และการบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม

2. ประเด็นที่ทุกพรรคเสนอนโยบาย 

จากการสำรวจนโยบาย 9 พรรคการเมือง พรรคใดมีประเด็นที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) พบว่าประเด็นที่ทุกพรรคเสนอนโยบายเพื่อขับเคลื่อน มีทั้งสิ้นเพียง 2 ประเด็น ได้แก่

1. สวัสดิการแก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ (ผู้สูงอายุ คนพิการ) ซึ่งเป็นการสนับสนุนเงินยังชีพเเละสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พัฒนาระบบกองทุนดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว งบประมาณ 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน ผ่านการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2. การเข้าถึงบริการทางการเงิน (กองทุน สินเชื่อ เงินกู้) เป็นการส่งเสริมให้บุคคลเเละภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงการเงินเพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งต้นธุรกิจ หรือต่อยอดธุรกิจให้เติบโตขึ้น เช่น กองทุนฉุกเฉินประชาชน


3. ประเด็นที่มีเพียง 1 พรรคที่เสนอนโยบาย 

จากการสำรวจนโยบาย 9 พรรคการเมือง พรรคใดมีประเด็นที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) พบว่า มีประเด็นที่มีเพียง 1 พรรคเท่านั้นที่เสนอนโยบาย รวม 8 ประเด็น ทั้งหมด 3 พรรคการเมือง ดังนี้

1) พรรคเพื่อไทย

  • ประเด็นนโยบายปรับปรุงเมืองให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่ม (universal design) เมืองควรได้รับการออกแบบและพัฒนาให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตสำหรับทุกคน เช่น ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่เอื้อต่อผู้พิการ และผู้สูงอายุ
  • ประเด็นการเข้าถึงสถานะทางทะเบียน พรรคที่มีนโยบายเกี่ยวกับประเด็นนี้ คือ พรรคเพื่อไทย การแก้ไขปัญหาเข้าถึงสถานะทางทะเบียน จะช่วยให้ได้รับสิทธิทางสังคม เช่น การเข้าถึงสิทธิในการศึกษาและสิทธิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุม

2) พรรคเสรีรวมไทย 

  • ประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานที่สำคัญในขจัดความหิวโหย ซึ่งการแก้ปัญหานี้จะช่วยให้เทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
  • ประเด็นการป้องกันและรับมือกับความรุนแรงสุดโต่ง เช่น กราดยิง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไทยจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการบังคับใช้กฎหมายการถือครองอาวุธปืนที่เข้มงวด เพื่อรับมือกับปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
  • การจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ขจัดการค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ฟอกเงิน เป็นประเด็นที่มีความซ้อนทับกับการทุจริตคอร์รัปชัน หากจะขจัดปัญหานี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาโดยตรง

3) พรรคก้าวไกล

  • ประเด็นนโยบายรองรับผลกระทบจากโครงการด้านพลังงานต่อชุมชนและพื้นที่ ซึ่งโครงการด้านพลังงานและแหล่งพลังงานที่เกิดขึ้น อาจก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบในทางลบ จึงควรมีมาตรการเพื่อรองรับให้แก่ชุมชนและพื้นที่
  • ประเด็นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการต่าง ๆ ซึ่งการประเมินผลกระทบเชิงแผนและนโยบายของพื้นที่นั้นอย่างเป็นระบบ จะช่วยพัฒนาและการวางแผนได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่
  • ประเด็นขจัดความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม เช่น การซ้อมทรมาน บังคับตรวจ DNA การอุ้มหาย การข่มขู่พยาน เป็นเปราะบางที่ยังต้องการนโยบายสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อมูลดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทยยังคงมีหลักนิติธรรมที่อ่อนแอที่สุดอยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก

4. ประเด็นที่ไม่มีพรรคใดเสนอนโยบาย

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งทั้ง 9 พรรคการเมือง ไม่ได้เสนอนโยบายเพื่อขับเคลื่อนแม้แต่นโยบายเดียว มีมากถึง 7 ประเด็น ได้แก่

1. การจัดการค้นหาและรักษาเชื้อวัณโรค ทั้งที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศภาระวัณโรคสูง นโยบายที่จะช่วยค้นหาเเละรักษาผู้ป่วยอย่างครอบคลุมมากที่สุดจึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะลดภาระวัณโรคในไทย

2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งครอบคลุมถึงการทำร้ายร่างกาย จิตใจ บังคับข่มเหงจากบุคคลในครอบครัว ปี 2565 องค์การสหประชาชาติเคยระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลก ผู้ชายใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง อย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว สถิติจาก สสส. เปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน

3. การประกันความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นเสมือนหลักประกันที่ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดในพืช ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การสามารถเข้าถึงและเลือกใช้พันธุกรรมที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของผลกระทบให้เกษตรกรได้มากกว่าการปลูกผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว 

4. การส่งเสริมการให้ความรู้และผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในการศึกษา เนื่องจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นร่วมสมัยที่ก่อผลกระทบวงกว้างต่อหลายภาคส่วน และประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก การส่งเสริมการเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุ ผลกระทบ เเละเเนวทางตั้งรับปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่ควรผลักดันไว้ในเนื้อหาทางการศึกษา

5. การจัดการขยะพลาสติกในทะเล โดยปัจจุบันคนไทยสร้างขยะพลาสติกถึงปีละ 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และยังติดอันดับ 8 ประเทศที่ปล่อยมลพิษสู่มหาสมุทรอีกด้วย ซึ่งผลกระทบสำคัญคือ ก่อให้การตายของสัตว์ทะเล ทำลายระบบนิเวศทางทะเล ทำให้นาโนพลาสติกปนเปื้อนในสัตว์ทะเลและอาจก่ออันตรายต่อผู้บริโภคในอีกทอดหนึ่ง ประเด็นนี้จึงควรถูกหยิบมาขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

6. การรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด เช่น การเปลี่ยนมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มีประมาณ 800,000 คน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่าอุตสาหกรรมแบบเดิม 10 เท่า ทำให้แรงงานต้องปรับเปลี่ยนทักษะ และหากปรับตัวไม่ทันจะมีผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มใหญ่ การเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องคำนึงความเป็นธรรม การมีนโยบายที่ช่วยเหลือหรือพัฒนาศักยภาพของเเรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านจะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

7. การคุ้มครองและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (พืช สัตว์) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เเละใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางชีวภาพที่หลากหลาย รวมถึงการป้องกันการสูญพันธุ์ของพืชเเละสัตว์


5. นโยบายของแต่ละพรรคจำแนกรายด้าน

ด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี

ด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดคือ “สวัสดิการแก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (ผู้สูงอายุ คนพิการ)” โดยทุกพรรคนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับประเด็นนี้ อันเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs จำนวน 2 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และ SDG 10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ และ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบายที่เหมาะสม

ขณะที่ประเด็นที่พรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายน้อย (1-2 พรรค) มีทั้งสิ้น 4 ประเด็น คือ  

1. การจัดการและรับมือกับโรคไม่ติดต่อสำคัญ 5 โรค (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งประเด็นนี้พรรคที่เสนอนโยบาย ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปที่การตรวจและรักษามะเร็ง แต่ไม่ครอบคลุมทุกโรคไม่ติดต่อสำคัญ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค  

2. การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 2 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล และพรรคชาติไทยพัฒนา ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็น SDGs ที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะวิกฤต

3. การดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 2 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย   ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควร ผ่านการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี 

และ 4. การรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 2 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.a เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับและป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

และประเด็นที่ไม่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบาย มีทั้งสิ้น 2 ประเด็น คือ  

1. การจัดการค้นหาและรักษาเชื้อวัณโรค ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่ออื่น ๆ  

และ 2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลง และ 16.2 ยุติการข่มเหง และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็กจากการสำรวจประเด็นข้างต้น

นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งที่ไม่มีพรรคการเมืองใด เสนอนโยบายเกี่ยวกับทั้ง 2 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรถูกนำมาพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก การจัดการค้นหาและรักษาเชื้อวัณโรค ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)  ระบุว่า วัณโรคเป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงด้านสุขภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2019 มีผู้ป่วยวัณโรคถึง 10 ล้านคนทั่วโลก  และประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศภาระวัณโรคสูง ประการที่สอง การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ซึ่งจากข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เผยสถิติเกี่ยวความรุนแรงในครอบครัวของปี 2565 พบมีจำนวน 2,347 ราย เป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งควรมีมาตรการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือแนะนำทางออกอย่างถูกต้อง 

ด้านที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการเมือง

ประเด็นด้านที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการเมือง ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดคือ นโยบายการจัดการมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM2.5 กำมะถันรั่วไหล โดยพรรคนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีทั้งหมด 8 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล  พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ  พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเสรีรวมไทย อันเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs จำนวน 2 เป้าหมาย ได้แก่ SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก และได้แก่ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ

ขณะที่ประเด็นที่พรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายน้อยที่สุด มีทั้งสิ้น 1 ประเด็น คือ ประเด็นนโยบายปรับปรุงเมืองให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่ม (universal design) โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 1 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืน

จากข้อสังเกตพบว่ามีเพียงพรรคการเดียวเท่านั้นที่เสนอนโยบายข้างต้น ซึ่งปรับปรุงเมืองให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่มเป็นประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญที่กระทรวงคมนาคม ได้สนับสนุนการจัดระบบเมือง โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่จะเป็นกรอบในการดำเนินงานแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนและไม่เลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้คนกลุ่มนั้นเข้าถึงการใช้งานพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองต่อการดำรงชีวิตในสังคมของคนทุกกลุ่ม

ด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดคือ “การเข้าถึงบริการทางการเงิน (กองทุน สินเชื่อ เงินกู้)” โดยทุกพรรคนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs จำนวน 2 เป้าหมาย ได้แก่ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.10 เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.3 เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยรวมถึงเครดิตในราคาที่สามารถจ่ายได้ให้แก่อุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดเล็ก ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับบุคคล และการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการช่วยอุตสาหกรรมขนาดเล็กซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ

ขณะที่ประเด็นที่พรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายน้อยที่สุด มีทั้งสิ้น 2 ประเด็น คือ

1. การลดการผูกขาดทางการค้าในอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นน้อยร้าย โดยมีพรรคที่เสนอนโยบายเพียง 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย มีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ

2. การขจัดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม อาทิ การกดค่าแรง การเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ โดยมีพรรคที่เสนอนโยบายเพียง 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน และเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว

นับว่าน่ากังวลและน่าเสียดายที่มีพรรคการเมืองเพียง 3 พรรค เสนอนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งที่ทั้ง 2 ประเด็น เป็นเรื่องสำคัญที่ควรถูกหยิบยกมาพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนในเชิงนโยบายด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก การผูกขาดทางการค้าในตลาดที่ผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะตลาดโทรคมนาคมและโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีการควบรวมกิจการนั้นน่ากังวลในช่วงปีที่ผ่านมาว่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศมีทางเลือกน้อยลง มีต้นทุนเช่นค่าโทรศัพท์ที่สูงขึ้น ประการที่สอง การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมในไทย โดยเฉพาะการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ เป็นอีกประเด็นที่มีการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เมื่อวันแรงงานข้ามชาติสากล ปี 2566 ที่ระบุให้รัฐบาลและผู้ประกอบการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้เสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ 

ด้านระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดี

ด้านระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดีประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดมี 2 ประเด็นคือ “การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ” มีทั้งหมด 8 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ  พรรคเพื่อไทย   พรรคภูมิใจไทย  และพรรคเสรีรวมไทย  เช่นเดียวกับ “การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร” มีทั้งหมด 8 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ  พรรคเพื่อไทย   พรรคภูมิใจไทย  พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเสรีรวมไทย อันเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs 2 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 1 เป้าหมายย่อยที่ 1.4 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงบริการทางการเงิน และ SDG2 เป้าหมายย่อยที่ 2.3 เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้ผลิตผู้หญิง ผู้ผลิตคนพื้นเมือง ผู้ผลิตเกษตรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ขณะที่ประเด็น “การป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ” เป็นประเด็นที่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายเพียง 1 พรรค ได้แก่ พรรคเสรีรวมไทย ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับ SDG2 เป้าหมายย่อยที่ 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และ เป้าหมายย่อยที่ 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ (ภาวะแคระแกร็นและผอมแห้ง น้ำหนักเกิน) ซึ่งเป็นเป้าหมายย่อยที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะวิกฤต

ประเด็นที่ไม่มีพรรคใดนำเสนอนโยบายเลยมีจำนวน 1 ประเด็น “ประกันความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อย” ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นเสมือนหลักประกันที่ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดในพืช ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การสามารถเข้าถึงและเลือกใช้พันธุกรรมที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของผลกระทบให้เกษตรกรได้มากกว่าการปลูกผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว 

ด้านการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดคือ “นโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน แทนพลังงานฟอสซิล” โดยพรรคนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีทั้งหมด 7 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทย   พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเสรีรวมไทย อันเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs จำนวน 2 เป้าหมาย ได้แก่ SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน และ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

ขณะที่ประเด็นที่พรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายน้อยที่สุด มีทั้งสิ้น 1 ประเด็น คือ  นโยบายรองรับผลกระทบจากโครงการด้านพลังงานต่อชุมชนและพื้นที่” โดยมีพรรคเสนอนโยบายเพียง 1 พรรค คือพรรคก้าวไกล ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

และประเด็นที่ไม่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบาย มีทั้งสิ้น 2 ประเด็น คือ 

1. ส่งเสริมการให้ความรู้และผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในการศึกษา ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

และ 2. นโยบายรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด รวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด

นับว่าน่ากังวลและน่าเสียดายที่ไม่มีพรรคการเมืองใด เสนอนโยบายเกี่ยวกับ 2 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรถูกนำมาพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก การให้ความรู้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจถึงมาตรการเตรียม การปรับตัว การลดผลกระทบที่เกิดขึ้น  จากผลการศึกษาดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index-CRI) ประจำปี 2021 ซึ่งใช้ข้อมูลสะสม 20 ปี ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จากทั้งหมดประมาณ 180 ประเทศ

และประการสอง นโยบายรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยหลากหลายโครงการการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจึงควรมีการรองรับและช่วยเหลือหรือพัฒนาศักยภาพของเเรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านจะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดคือ “การบริหารการจัดการน้ำ (น้ำแล้ง, น้ำท่วม)” โดยพรรคที่นำเสนอนโยบายประเด็นนี้มีทั้งสิ้น 4 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs จำนวน 2 เป้าหมาย ได้แก่ SDG6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน และเป้าหมาย่อยที่ 6.5 ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ นับว่าตอบโจทย์สถานการณ์การเข้าถึงและขาดแคลนน้ำในประเทศไทยที่กำลังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่  ขณะที่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development Report (SDR)” ปี 2565 ก็ระบุให้ SDG6 อยู่ในสถานะที่มีความท้าทาย

ส่วนประเด็นที่ไม่มีพรรคใดเสนอนโยบายแม้แต่พรรคเดียวคือ “การจัดการขยะพลาสติกในทะเล” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs จำนวน 2 เป้าหมาย คือ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ และ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท

การไม่มีการเสนอนโยบายจัดการขยะพลาสติกโดยตรงเป็นอีกหนึ่งช่องโหว่ในการมองปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองไทย เนื่องจากปัจจุบันคนไทยสร้างขยะพลาสติกถึงปีละ 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และยังติดอันดับ 8 ประเทศที่ปล่อยมลพิษสู่มหาสมุทรอีกด้วย ซึ่งผลกระทบสำคัญคือก่อให้การตายของสัตว์ทะเล และและสภาพชายหาดที่ปนเปื้อนด้วยเศษพลาสติกนานาชนิด ประเด็นนี้จึงควรถูกหยิบมาขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

ด้านการบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม

ประเด็นด้านการบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรมที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายร่วมกันมากที่สุดคือ “การปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” โดยพรรคที่นำเสนอนโยบายนี้มีทั้งสิ้น 4 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ซึ่งปัจจุบันหลายภาคส่วนกำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าของแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน

ส่วนประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอน้อยที่สุดคือเสนอเพียง 1 พรรค พบว่ามีทั้งสิ้น 4 ประเด็น ดังนี้

1. การป้องกันและรับมือกับความรุนแรงสุดโต่ง เช่น กราดยิง เสนอโดยพรรคเสรีรวมไทย มีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

2. ขจัดความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม เช่น การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย เสนอโดยพรรคก้าวไกล มีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ 

3. การจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ (ขจัดการค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ฟอกเงิน) เสนอโดยพรรคเสรีรวมไทย มีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

4. การเข้าถึงสถานะทางทะเบียน เสนอโดยพรรคเพื่อไทย มีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.9 กำหนดสถานะทางกฎหมายสำหรับทุกคน โดยรวมถึงการให้มีสูติบัตร ภายในปี พ.ศ 2573

ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้น เป็นเรื่องที่สำคัญและอยู่ในกระแสการเรียกร้องของสังคมมาตลอด โดยเฉพาะการป้องกันและรับมือกับความรุนแรงสุดโต่งนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งรุดแก้ไข เพราะในห้วงสามปีที่ผ่านมาสังคมไทยเผชิญกับเหตุการณ์กราดยิงที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตถี่ขึ้นอย่างน่าตกใจ ขณะที่ความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตา เพราะปัจจุบันแม้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ จะมีผลบังคับใช้ในเชิงนิตินัยแล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลการบังคับใช้ในเชิงปฏิบัติ การได้พรรคการเมืองที่จะขับเคลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ข้างต้นอย่างจริงจังจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของประชาชน


6. สรุป

ในฤดูเลือกตั้ง “นโยบาย” เปรียบเสมือนสินค้าที่พรรคการเมืองเสนอขายต่อให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเลือกซื้อด้วยการลงคะแนนให้ การเสนอนโยบายในกระบวนการเลือกตั้งอาจมิใช่เครื่องการันตีว่านโยบายเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้ประชาชน รู้ว่าพรรคการเมืองที่พวกเขาจะลงคะแนนให้นั้นมีความตั้งใจที่จะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางใด ขณะเดียวกันก็เป็นกระจกสะท้อนแนวคิด วิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองว่าคำนึงถึงคนทุกกลุ่มในสังคมมากน้อยเพียงใด

เข้าถึงเว็บไซต์ของ กกต. : คณะกรรมการเลือกตั้ง
เข้าถึงเว็บไซต์ทางการของพรรคการเมือง : 
พรรคก้าวไกล 
พรรคเพื่อไทย 
พรรคภูมิใจไทย 
พรรคพลังประชารัฐ 
พรรครวมไทยสร้างชาติ 
พรรคประชาธิปัตย์ 
พรรคไทยสร้างไทย 
พรรคเสรีรวมไทย 
พรรคชาติไทยพัฒนา


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ แพรวพรรณ ศิริเลิศ และอติรุจ ดือเระ  – เรื่อง
เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

Last Updated on พฤษภาคม 18, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น