จีนห่วง ‘ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงงานสู่ทะเล’ กระทบอาหารทะเลมีสารพิษตกค้าง ด้าน อย. ไทย ตรวจสอบเข้มข้น แนะประชาชนคลายกังวล

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นไฟเขียวปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับการบำบัดและเจือจางแล้วลงสู่มหาสมุทร ท่ามกลางความวิตกกังวลของชาวญี่ปุ่นและพลเมืองประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะเรื่องสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนและสารพิษตกค้างลงสู่มหาสมุทร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ รวมถึงผู้บริโภคอื่น ๆ ในห่วงโซ่อาหารได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานอย่างหนักและรัดกุมที่สุดเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมทั้งระบุว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ได้รับการบำบัดแล้วสู่มหาสมุทรนั้นเป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการรื้อถอนและปิดตัวโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว โดยแผนงานการปล่อยน้ำปนเปื้อนครั้งนี้ได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) อีกทั้งระดับของแร่ทริเทียม (Tritium) ที่หลงเหลืออยู่ในน้ำ ภายหลังการบำบัดก็อยู่ในระดับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติกัมมันตรังสีรั่วไหลในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 จนถึงปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังคงผลิตน้ำปนเปื้อนออกมามากถึงวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ใกล้จะเต็มความจุของแท็งก์น้ำที่เก็บสะสมน้ำปนเปื้อนมาตั้งแต่เกิดเหตุภัยพิบัติ โดยคาดว่าจะถึงขีดจำกัดที่ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงต้นปี 2567 จึงมีความจำเป็นต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนทิ้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามสร้างความเชื่อมั่นถึงผลกระทบต่อสัตว์ทะเล แต่รัฐบาลจีนก็ยังมีความกังวล  ล่าสุด ได้ประกาศห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น โดยหน่วยงานศุลกากรของจีนแสดงความกังวลอย่างมากต่อความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหลังการปล่อยน้ำเสียดังกล่าว และได้เพิ่มข้อจำกัดสำหรับการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นเพื่อ ‘ปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน’ ซึ่งสินค้าอาหารนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่น คาดว่าจะอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีน ประณามการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรและประท้วงอย่างรุนแรง โดยชี้ว่าเป็น ‘การกระทำที่เห็นแก่ตัวและขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง’ โดยกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน ประกาศจะติดตามและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นในน่านน้ำของจีน

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ออกคำแนะนำขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะแล เจ้าหน้าที่ด่านประมงของกรมประมง และด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | (EP.2/2) กว่าจะเป็น “PRTR” – กฎหมายระดับโลกที่นายกรัฐมนตรีเคยปัดตกไป: วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมาย PRTR
นักวิทยาศาสตร์ใช้งูสิงเป็นตัวชี้วัดปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ยังหลงเหลือหลังอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ผู้ชายมีลูกยากมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุที่กระทบต่อฮอร์โมนเพศชายและสเปิร์มมาจากสารเคมีและสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม
สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2564 จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร?
ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะ ค้านเสียงฝ่ายห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชากรรอบมหาสมุทรแปซิฟิก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563

แหล่งที่มา 
ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร 24 สิงหาคมนี้ (The Standard) 
อย. จับมือ กรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำหนดมาตรการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด หลังปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (The Standard)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น