SUPvivors SAY NO MORE โครงการเสริมพลัง ให้ผู้รอดชีวิต จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเอกวาดอร์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ

โครงการ ‘SUPvivors SAY NO MORE’ เสริมพลังแก่ผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse) ให้เป็น ‘SUPER survivors’ เพื่อให้ผู้รอดชีวิตตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในฐานะตัวแทนสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีชาวเอกวาดอร์กว่า 11 ล้านคนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับแคมเปญดังกล่าว โดยโครงการนี้สนับสนุนการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้รอดชีวิตหลายแสนคนให้ออกมาพูด นำเสนอข้อมูลการถูกล่วงละเมิดทางเพศเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ เพื่อช่วยเปิดโปงคดีล่วงละเมิดทางเพศหลายพันคดีที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม และไม่ได้รับการลงโทษเป็นการสร้างแรงกดดันทางสังคมแก่หน่วยงานระดับชาติให้หันมาสนใจถึงปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น

SUPvivors SAY NO MORE ก่อตั้งโดย Paola Andrade Arellano และ Ricardo Vélez เริ่มต้นเมื่อปี 2559 ทั้งสองคนได้เปิดตัวแคมเปญ “Ecuador Dice No Más” หรือ “Ecuador Says No More” ผ่านสื่อเป็นครั้งแรก โดยคัดเลือกตัวแทน (ambassadors) เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ จัดอบรมสัมมนา จัดตั้งกลุ่มสนับสนุนซึ่งกันและกัน (support group) และร่วมเดินขบวนเพื่อถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรื่องราวของผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การรณรงค์ดังกล่าว สามารถเข้าถึงชาวเอกวาดอร์ได้กว่า 11 ล้านคน รวมถึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รอดชีวิตหลายแสนคนออกมาพูดถึงประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศเผยแพร่ออกไปสู่เวทีสาธารณะ กลายเป็นปรากฏการณ์สร้างผลกระทบแบบโดมิโน (domino effect) เกิดขึ้น ในการเปิดเผยกรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การขับเคลื่อนดังกล่าว ช่วยสร้างแรงกดดันทางสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้หน่วยงานระดับชาติ หันมาให้ความสำคัญและตระหนักถึง การแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น มีการจัดทำสถิติการล่วงละเมิดทางเพศให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงการชดเชยความเสียหายให้แก่เหยื่อ

ทั้งนี้ ยังได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและผู้ใหญ่ในเอกวาดอร์ เข้าถึงการเรียนรู้ในการป้องกันการละเมิดและต่อต้านความรุนแรงในการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านโปรแกรมการศึกษาแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้ความรู้ผ่านสื่อ เช่น ซีรีส์ Super Rules, Super Parents และ Super Teachers ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กกว่า 4.6 ล้านคนจากโรงเรียนของรัฐ 16,000 แห่ง รวมถึงมอบสื่อการเรียนการสอนแก่ครูไปแล้วกว่า 150,000 คน 

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด -19 ก็ได้เปิดตัวสื่อแคมเปญ “Safe at Home” และ “Safe Online”  ทั่วละตินอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกอากาศสื่อสารความรู้ผ่านช่องทางรายการในประเทศโคลอมเบีย ชิลี และเม็กซิโก โดยมุ่งเน้นเนื้อหาสาระไปที่เรื่อง “วันที่ฉันเรียนรู้จะปฏิเสธ” หรือ “The Day I Learned to Say No” รวมถึงได้มีการจัดสัมมนาผ่านเว็บไซต์ สำหรับการให้ความรู้ในเรื่องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สำหรับเด็กและสนับสนุนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่เหยื่อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่าหลายพันคน อย่างไรก็ดี โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้ง มูลนิธิ NO MORE ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นอย่าง เทศบาลเมืองกัวยากิลในเอกวาดอร์ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (United Nations Children’s Fund : UNICEF) พร้อมทั้งองค์กรอื่น ๆ ในประเทศแถบละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

SUPvivors SAY NO MORE หรือ Ecuador Dice No Más เป็นหนึ่งโครงการที่ชนะในการประกวดรางวัล UN SDG Action Awards ปี 2022 ประเภท Mobilize (สร้างการขับเคลื่อน) ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายที่ก่อตั้งเพื่อต้องการยุติความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ


UN SDG Action Awards จัดขึ้นโดย UN SDG Action Campaign เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคล องค์กร ภาคประชาสังคม รัฐบาล มูลนิธิ เครือข่ายและผู้นำภาคเอกชนจากทั่วโลก ที่ดำเนินการความคิดริเริ่มหรือนวัตกรรมที่สร้างแรงกระเพื่อมและการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อน SDGs ระดับโลก มีการมอบรางวัลครั้งแรกเมื่อปี 2018 โดยมีผู้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกว่า 2,750 คน/องค์กร จาก 142 ประเทศทั่วโลก

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผู้ชนะ SDG Action Awards ประจำปี 2022 สะท้อนแรงบันดาลใจในการลงมือทำตามเป้าหมาย SDGs 
Stand to End Rape (STER) ต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศในสถาบันอุดมศึกษาในไนจีเรีย ด้วยการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ
ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป
ทลายอุปสรรคด้วย Signs TV ช่องทีวีภาษามือเคนยา ที่เชื่อว่าการพัฒนาที่เป็นธรรมต้องคำนึงถึงคนพิการมาก่อน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

แหล่งที่มา: SUPVivors Say No More – Ecuador – SDG Action Awards 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น