CCAC ริเริ่มการระดมความร่วมมือ ในการลดมลพิษทางอากาศ เพื่อสร้าง ‘อากาศสะอาด’ ให้แก่โลก

การประชุมรัฐมนตรีประจำปีของโครงการความร่วมมือเรื่องสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด (Climate and Clean Air Coalition: CCAC) โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดตัวความคิดริเริ่มในการระดมความร่วมมือและสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน เพื่อบรรลุเป้าหมายให้เกิดอากาศสะอาดทั่วโลก พร้อมได้ออกรายงานสำรวจวิธีการลดผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการใช้ยานพาหนะขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนและสภาพภูมิอากาศ

จากรายงาน Clean Air Flagship มีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้คน โดยการสนับสนุนของรัฐบาล เพื่อสร้างอากาศสะอาดอย่างรวดเร็วที่สุด และชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมลสารช่วงชีวิตสั้นที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ (Short-Lived Climate Pollutants: SLCPs) เช่น ผงฝุ่นเขม่าดำ มีเทน ซึ่งแม้มลสารเหล่านี้มีช่วงชีวิตที่ค่อนข้างสั้น แต่สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังรวมถึงมลพิษที่เป็นอันตรายอื่น ๆ และมุ่งเน้นเพิ่มผลประโยชน์ร่วมกันโดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตโดยรวม

ความร่วมมือเรื่องสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด ได้สนับสนุนความพยายามผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ขยายการกำกับดูแลในระดับภูมิภาคและในระดับต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือ และความสามารถในการบูรณาการเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศพร้อมเสริมสร้างการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบาย การติดตามและการสร้างแบบจำลองมลพิษทางอากาศ สำหรับเติมเต็มช่องว่างข้อมูลที่สำคัญเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด รวมถึงส่งเสริมความโปร่งใสเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชนในการบูรณาการเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ยังได้รายงานการใช้ยานพาหนะขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้เตือนว่ากลุ่มยานพาหนะขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก และรถประจำทาง มีผลต่อมลพิษทางอากาศ อุบัติเหตุทางท้องถนน ความสิ้นเปลืองทางด้านเชื้อเพลิงสูง รวมถึงการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสีดำ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจากการเผาไหม้ที่มีความเข้มข้นสูงและสร้างมลพิษทางอากาศ โดยรายงานพบว่าการใช้ยานพาหนะขนาดใหญ่ ไม่ได้มีการจัดการมลพิษที่เหมาะสมและไม่มีมาตรฐานในการบังคับใช้ จึงได้เรียกร้องให้ประเทศผู้ส่งออกและนำเข้ายานพาหนะขนาดใหญ่ แบ่งปันความรับผิดชอบในการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพของยานพาหนะขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นกลุ่มยานพาหนะที่สร้างมลพิษบนท้องถนนทั่วโลกมากที่สุด 

อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การพัฒนาอุตสาหกรรม และการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น อาจมาพร้อมกับคุณภาพอากาศที่เสื่อมโทรมลง และส่งผลให้การพัฒนาที่ยั่งยืนตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะมลพิษทางอากาศไม่ได้กระจายอยู่ในที่เดียว บางชนิดสามารถแพร่กระจายไปได้ไกล ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านทั่วโลก ดังนั้น การจัดการกับมลพิษทางอากาศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ภูมิภาค และภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงและการสร้างมาตรฐานคุณภาพอากาศที่สอดคล้องในการพัฒนาที่มีความร่วมมือกันมากขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
CCAC Ministerial Boosts Cooperation, Data on Reducing Pollutant Emissions – IISD
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ มลพิษทางอากาศและการจัดการ – ESCAP

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น